กระดานสนทนา วัดโฆสิตาราม (บ้านแค) จ.ชัยนาท

ทั่วไทย => ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องเเละความรู้ทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: สังขวานร ที่ 14 กันยายน 2007, 09:11:35 AM



หัวข้อ: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: สังขวานร ที่ 14 กันยายน 2007, 09:11:35 AM
(กระทู้เก่าจาก Amuletsinthai / Post โดย คุณสามตา ซึ่งคัดลอกมาจาก หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ฉบับ วันจันทร์ ที่ 11 มีนาคม 2545)

เมื่อเอ่ยถึง "พระคง ลำพูน" หนังสือเกี่ยวกับ พระเครื่องแทบทุกฉบับ ต้องเคยลง เรื่องราวกันมาแล้ว มากบ้างน้อยบ้าง หลายท่านก็คงเคยอ่าน และทราบถึงความเป็นมาของ "พระคง ลำพูน" เป็นอย่างดี ผู้เขียนจะพยายามสอดแทรก "ข้อมูลใหม่" มาเพิ่มเติมให้ สำหรับท่าน ที่เพิ่งเข้ามาสู่วงการใหม่ จะได้ทราบรายละเอียดบางแง่บางมุมกันมากขึ้น ...นับตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน นักนิยมพระเครื่องก็มักจะเล่นหา "พระตระกูลลำพูน" เนื้อดินเผา กันมาโดยตลอด เพราะเชื่อกันว่า "พระตระกูลลำพูน" เป็น...ต้นแบบของพระเนื้อดินเผา ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด อันได้แก่ พระรอด พระเลี่ยง พระลบ พระลือ พระลือโขง พระเปิม พระคง พระบาง พระรอดหลวง พระสาม พระนางสิกขี (จามเทวี) พระกวาง พระสิบสอง นอกจากนั้นยังมี พระพิมพ์แปลกๆ แต่มีจำนวนน้อย อีกหลายพิมพ์ เท่าที่เอ่ยชื่อมานั้นล้วนเป็น พระพิมพ์ที่วงการ พระเครื่องรู้จักกันดี และนิยมกันมานานแล้ว โดยเฉพาะ พระรอด มีราคาเช่าหาแพงที่สุด เป็นหนึ่งใน พระชุดเบญจภาคี ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดอีกด้วย
ชาวจังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียง ทางภาคเหนือ ต่างเชื่อกันว่าพระพิมพ์ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น มีอายุการสร้างเก่าแก่ ร่วมสมัยยุคเดียวกัน แต่ตามการสันนิษฐาน การอ่านศิลปะยุคสมัยของท่านผู้รู้หลายๆ ท่านก็ยังมีความแตกแยกในความคิดเห็นกันไป เช่น บางท่านว่า พระบางพิมพ์สร้างในยุคสมัย พระนางจามเทวี คือประมาณ 1,200 ปีล่วงมาแล้ว และพระบางพิมพ์จะมีอายุการสร้างเพียง 700-800 ปีเท่านั้น แต่ทุกคนยืนยันตรงกันว่า พระคง เป็น... พระเครื่องที่มีอายุการสร้างเก่าแก่ที่สุด...พิมพ์หนึ่ง ในพิมพ์พระ ที่มีปัญหาโต้แย้งจากผู้เขียนต่างคนต่างทรรศนะ บางราย ถึงกับต่างคนต่างอ้างอิงหลักฐานที่พบ และถกเถียงกันทางหนังสือมาแล้วก็มี แต่สำหรับผู้เขียนต้อง การจะโน้มน้าวท่านผู้อ่านให้มองแบบกว้างๆ โดยใช้วิจารณญาณกันไปด้วยว่า... ขอเป็นเพียง พระเก่าก็เพียงพอแก่คุณค่าในการอนุรักษ์...อยู่แล้ว  



หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: สังขวานร ที่ 14 กันยายน 2007, 09:13:10 AM
พระเครื่องต่างๆ มีประวัติการขุดค้นพบ ที่แน่นอน ส่วนใหญ่จะได้จากบริเวณ วัดในเขตจังหวัดลำพูน และจังหวัดใกล้เคียง (เป็นการนำฝากกรุภายหลัง) ความรู้สึกลึกๆ เราก็ทราบว่า เป็นพระเครื่องเก่าแก่แต่โบราณ อย่างน้อยก็มีอายุการสร้างหลายร้อยปี ก็ตรงจุดนี้แหละที่ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า พระเครื่องดังกล่าวจะถูกสร้างด้วยบารมีและด้วยจิตศรัทธาอันบริสุทธิ์ มิได้สร้างด้วย อกุศลเจตนา โดยเด็ดขาด ดังนั้น พระเครื่องโบราณเก่าแก่ จึงมั่นใจได้ว่า จะต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณอันศักดิ์สิทธิ์ ท่านไม่ต้องคำนึงว่า จะเก่าแก่ถึงพันปีจริงหรือ ?...พระฤาษีกับพระนางจามเทวีสร้างไว้จริงหรือ ?... หากจะคิดว่า พระนี้มีอายุไม่ถึงพันปีหรอก แค่เจ็ดแปดร้อยปี เท่านั้น แล้วความศรัทธาเชื่อถือจะลดน้อยถอยลงไป อันนี้ไม่น่าจะถูกต้องนัก จริงอยู่ หากการเล่นหาสะสมพระเครื่อง ถ้าสามารถทราบถึงศิลปะ อายุสมัย ที่แน่นอนก็ย่อมจะเป็นการดียิ่ง หากไม่สามารถ ทราบได้ แต่รู้ว่าเก่าแก่ ก็น่าจะอนุรักษ์ไว้ด้วยจิตศรัทธาว่า เป็นสมบัติ ของบรรพบุรุษสร้างไว้ด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยกุศลเจตนา เราอนุรักษ์เก็บรักษาไว้ก็ย่อมจะเป็นสิริมงคลแก่เราแน่นอน อันที่จริงพระเครื่องใหม่ๆ ในปัจจุบันที่สร้างด้วยกุศลเจตนา มีพุทธคุณดีก็มี แต่หากเราได้ พระเก่า มาเก็บไว้สักการะบูชาบ้าง ก็ยิ่งน่าจะภาคภูมิใจ และสบายใจมิใช่หรือ ? อันนี้ผู้เขียนว่าเป็นความรู้สึกลึกๆ ของคนส่วนใหญ่ทีเดียว โดยเฉพาะผู้ที่นับถือพระเครื่องโดยไม่สนใจในด้านราคาเช่าหา ความจริงอันหนึ่งซึ่งท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะยังไม่เคยทราบคือ บุคคลที่เราๆ ท่านๆ ยกย่องให้เป็น "เซียนพระ" ที่ทำหน้าที่ซื้อๆขายๆพระระดับราคาแสน ราคาล้าน ท่านเชื่อไม่ว่าเขาเหล่านั้นหลายคนต่างใช้พระ ประจำตัวที่เชื่อมั่นในพุทธคุณได้ แต่...มีราคาเช่าหาแค่หลักร้อยหลักพัน... เท่านั้น บางคนพกไว้ในกระเป๋าเสื้อบ้าง กลัดเหน็บไว้ในเสื้อบ้าง อันนี้ไม่ใช่ว่า พระราคาแพงจะเป็นพระไม่ดี เพราะความจริงส่วนหนึ่งคือ พระต้องดีและดังจึงจะมีราคาสูงได้ ... แต่ส่วนหนึ่งก็ยังคงอยู่ที่การสร้างความเชื่อถือ และความต้องการ คือมีผู้ต้องการกันมาก ราคาก็ย่อมจะสูงขึ้นด้วย  


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: สังขวานร ที่ 14 กันยายน 2007, 09:14:20 AM
ในอดีต 30-40 ปีก่อน "พระคง"มีจำนวนมากมาย เพราะนอกจากจะขุดได้จากบริเวณ วัดพระคงฤาษี จ.ลำพูน แล้ว ยังปรากฏว่า กรุพระวัดอื่นๆ ทั้งในจังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย ก็มี "พระคง" แตกกรุออกมาปะปนอยู่กับพระประจำกรุนั้น ๆ ด้วย ไม่มากก็น้อย  อันนี้ก็เป็นข้อยืนยันได้อีกอย่างหนึ่งว่า "พระคง"มีอายุการสร้างมานาน เพราะเคยมีการ ขุดพบ "พระคง" ได้จากศาสนสถาน ที่ชำรุดทรุดโทรมหลายแห่ง เพื่อนำมาใช้ในสถานการณ์สงคราม ต่อมาเมื่อสงคราม สงบจึงได้นำ "พระคง" นั้นกลับไปบรรจุฝากกรุ ไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ดังกล่าว จึงนับว่า "พระคง" เป็นพระพิมพ์ที่มีการสร้างมากที่สุดใน "ตระกูลพระลำพูน" ทั้งหมด "พระคง"  จึงถูกแจก ถูกแลก ถูกแถม แก่คนต่างถิ่นเสมอ ในสมัยก่อนโน้น ทำให้ "พระคง" แพร่กระจายไปทั่ว ทุกสารทิศของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ถึงขนาดคนต่างถิ่นเรียก "พระคง" ว่า "พระลำพูน" ไปก็มี กลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูนไปเลย เรียกว่าไปถึงไหน ไม่ต้องกลัวว่าจะตกรถ เพราะไปถึงจังหวัดใดก็เอา"พระคง" แลกเปลี่ยนเป็นเงินค่ารถกลับบ้านได้เสมอ แสดงให้เห็นถึง ความนิยมอย่างกว้างขวางของ"พระคง"ซึ่งมีประสบการณ์มากมาย เล่าขานกันไม่รู้จักจบ
(Kong_3)


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: สังขวานร ที่ 14 กันยายน 2007, 09:15:27 AM
นอกจาก กรุวัดพระคง จะมี"พระคง"มากที่สุดแล้ว ย้อนกลับไปทบทวนดูกรุที่พบ พระคง นับจำนวนหลักร้อยก็มีหลายกรุเช่น ประมาณปี 2505 พบที่ วัดพวกหงษ์ เชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น "พระคง"ที่ลงรัก ต่อมาประมาณปี 2507 พบที่ วัดพันอ้น เชียงใหม่ ปี 2512 พบที่ วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ "พระคง"กรุนี้จะมีสีเทาดำทั้งหมด ฝังอยู่ห่างจากผิวดินประมาณ 1 ศอก เข้าใจว่าอดีตวิหารเก่าคงถูกไฟไหม้ทำลาย "พระคง" กองทับถมอยู่จึงมีสีดำทั้งหมด  ต่อมาเมื่อปี 2517 พบที่ กรุจามขี้มด ถนนซุปเปอร์เชียงใหม่-ลำปาง และครั้งล่าสุด มีการขุดกรุใหญ่จาก วัดพระคง เองในปี 2516 โดยทางวัดจะย้ายสร้างอุโบสถหลังใหม่ ต้องการทุนทรัพย์ คณะกรรมการจึงตกลงเสี่ยงขุดกรุพระที่ ใต้พระประธานโบสถ์หลังเก่า  ในครั้งนั้นต้องขุดลึกลงไปถึงกว่า 2 เมตร ขุดไปสูบนํ้าไปจึงพบ"พระคง"ประมาณห้าหกพันองค์  ในจำนวนนี้มี"พระคง"สีดำ 10 กว่าองค์ และยังมี "พระคงเนื้อชินเงิน" อีกด้วย ประมาณ 10 กว่าองค์ ส่วนใหญ่ผุระเบิด "พระคง"กรุนี้เรียกกันว่า "พระกรุใหม่" นอกจากนี้ยังพบแผ่น ทองคำดุนรูปพระขนาดเท่าฝ่ามือจำนวน 2 แผ่นอีกด้วย  อนึ่ง คำว่า "พระคงกรุใหม่" หลายท่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็น พระคงที่มีอายุการสร้างน้อยกว่าพระคงกรุเก่า อันที่จริงแล้ว เป็น"พระคง"ที่มีพิมพ์ทรงและเนื้อหามวลสารเดียวกันทั้งสิ้น เพียงแต่สภาพกรุชื้น มีนํ้าทำให้แลดูพระกรุใหม่เสียผิวไปบ้าง แต่มาถึงปัจจุบันนี้ "พระคง"กรุใหม่ก็ได้แห้งสนิทแล้ว หากนำมาใช้ให้ถูกเนื้อถูกเหงื่อ ไม่กี่เดือนสภาพพระก็จะเป็นดุจเดียวกับพระกรุเก่าทุกประการ ปัจจุบันการเก็บรักษาพระมักใส่ตลับ ซึ่งทำให้เก็บรักษาองค์สามารถอนุรักษ์สภาพเดิมๆได้ดีมาก นับเป็นการอนุรักษ์ที่ดี
พระคง"ที่สร้างในยุคหลังๆ พิมพ์ทรงจะแตกต่างกันไปจากของเดิมบ้าง เท่าที่พบมีของ กรุดอยคำ เชียงใหม่ ติดต่อเขตลำพูน นอกนั้นก็มีสร้าง "พระคง" พิมพ์ล้อเลียนในยุคหลังๆ โดยพระเกจิอาจารย์ต่างๆ หลายสำนัก นอกจาก"พระคง"จะพบมีจำนวนมากแล้ว "พระคง" ยังเป็นพระเนื้อดินเผาที่แข็งแกร่งมาก เมื่อใช้สัมผัสถูกผิวพระจะดูหนึกนุ่ม "พระคง" จึงเปรียบเสมือน "พระองค์ครู" สำหรับเป็นแนวทางการศึกษา พระเนื้อดิน แก่ผู้ที่เริ่มสนใจศึกษา อันนี้ยืนยันได้เลยว่า เกือบร้อยทั้งร้อยของ เซียนพระเนื้อดิน ทุกคนต่างต้องฝึกหัดการพิจารณา เนื้อพระ ผิวพระ ตลอดจน คราบนวลกรุ จาก "พระคง" นี่แหละ เนื่องจากแต่ก่อน "พระคง" มีจำนวนให้พบเห็นมาก หาง่าย เป็นพระเนื้อดี แต่มาถึงวันนี้...ดูเหมือนว่า จะเป็นพระเครื่องที่เริ่มจะหาดูได้ยากเสียแล้ว ที่พอมีให้เห็นบ้างก็มักจะด้อยความสวยงาม และคาดว่า อนาคตอันใกล้นี้ แม้แต่องค์ไม่สวยไม่งาม ก็อาจจะพบเห็นยากเข้าทุกที



หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: สังขวานร ที่ 14 กันยายน 2007, 09:16:48 AM
ผู้เขียนเห็นว่า ปัจจุบัน (2545) กำลังเป็นช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อที่พระเครื่องสำคัญกำลังจะเริ่มหายไป (อยู่กับผู้เก็บมากกว่าผู้ขาย) จึงอยากชักชวนท่านผู้อ่านจงช่วยกันเสาะหาเก็บอนุรักษ์ "พระคง"ไว้บ้าง ก่อนที่จะกลายเป็นพระที่หายาก และราคาเช่าหาจะสูงขึ้น ๆ โดยผู้เขียนมีเหตุผลดังต่อไปนี้
1. วรรณะดี :-  "พระคง"เป็นพระดินเผาด้วยความร้อนสูง มีความแข็งแกร่ง เนื้อที่ผ่านการใช้จะมีผิวหนึกนุ่ม ดูงามตา ยิ่งพิศยิ่งซึ้ง นับเป็น "องค์ครู" ของ พระตระกูลเนื้อดิน
2. พิมพ์ทรงสง่างาม :-  ศิลปะแบบทวาราวดี ห่มดอง คางเหลี่ยม มีกำไลข้อมือข้อเท้า องค์พระลํ่าสัน ฐานแก้วบัวสองชั้นดูมั่นคง ใบโพธิ์และก้านโพธิ์อ่อนช้อย ทำให้น่าพิศวง และน่ายกย่องว่า คนโบราณยุคนั้นช่างแกะแม่พิมพ์ได้งดงามเหลือเกิน ภายใต้ร่มโพธิ์สื่อถึงความ "ร่มเย็น" อย่างมีความหมายยิ่ง
3. ขนาดกะทัดรัด :- กำลังสวย กว้าง 1.5 ซม. สูง 2.8 ซม. โดยประมาณ อาราธนาแขวนแล้วดูสวยงาม
4. เก่า :- มีอายุการสร้างนานกว่า 1,200 ปี จากตำนานเล่าขานและจากผู้เชี่ยวชาญทางโบราณวัตถุ คือ ดร.ยอร์ช เซเดย์ ชาวฝรั่งเศส ที่นักโบราณวิทยายอมรับ และเคยพูดถึง"พระคง" มานานแล้ว ล่าสุดก็มีการทดลองวัดค่าคาร์บอนวัตถุโบราณ จากเครื่องตรวจวัด รังสีที่ทันสมัย ซึ่งใช้ในการตรวจวัดวัตถุโบราณที่มีอายุนับพันปีขึ้นไป ปรากฏว่า"พระคง" มีอายุการสร้างเก่าจริง นับว่าเป็น วัตถุโบราณที่มีคุณค่าสูงยิ่ง สมควรแก่การอนุรักษ์ไว้
5. พุทธคุณดี :- มีประสบการณ์มาหลายด้าน ไม่ว่าคงกระพัน แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม ก็ไม่เป็นสองรองใคร จนเป็นที่ยอมรับและกล่าวขวัญถึงมานานแล้ว
6. นามเป็นมงคล :-  คำว่า "คง" ดีทั้งมั่นคง คงกระพันชาตรี เป็นคำพูดอมตะน่าสนใจและมีคุณค่ามาก
จากเหตุผลดังกล่าว ท่านผู้อ่านคงพอจะมองเห็นแล้วว่า สมควรหรือไม่ที่จะช่วยกันเก็บ รักษาอนุรักษ์"พระคง"ไว้เป็นสมบัติ แก่ลูกหลานสืบต่อไป
ลักษณะเนื้อ : เป็นพระดินเผา ที่มีกรวดผสมบ้างประปราย ทุกองค์จะปรากฎแร่เหล็กเป็นจุดแต้มแดงๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้างทั่วองค์พระ หากอยู่ในพระที่ถูกความร้อนจัดเช่น สีเขียว สีมอย (เขียว-เทา) จุดแต้มดังกล่าวจะเป็นลักษณะไหม้ไฟกลายเป็สีดำ เนื้อละเอียดหนึกนุ่ม ยกเว้นในองค์พระกรุใหม่ไม่ผ่านการสัมผัสจะดูผิวฟ่าม หากแต่ใช้สัมผัสถูกบ่อยก็จะหนึก นุ่ม เนียน เช่นกัน



หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: สังขวานร ที่ 14 กันยายน 2007, 09:17:42 AM
ลักษณะพิมพ์ : อันนี้เป็นจุดเด่นมากท่านลอง นำมาเพ่งพิจารณาดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะพบว่าพิมพ์พระคงนั้นสวยงาม ดูมีสง่ายิ่ง ว่ากันว่าหากแม้นมีจำนวนน้อยเฉกเช่นพระรอดแล้วไซร้ พระคงน่าจะถูกจัดให้อยู่ในชุดเบญจภาคีแทนพระรอดเสียด้วยซ้ำ เพราะหากมาเปรียบเทียบกันแล้ว ไม่ว่าจะมองดูด้านใดพระคงก็ดูสวยงามกว่า ศิลปะสูงกว่าแลดูซึ้งกว่ามาก
ตำหนิพิมพ์ : อันที่จริงผู้เขียนเดิมตั้งใจว่าจะไม่พยายามเขียนถึง เพราะอาจจะกลายเป็นการตั้งตนเป็นเซียน แต่ตรองดูแล้วก็น่าจะ เป็นประโยชน์อย่างน้อยก็แก่ผู้ที่เริ่มต้นเข้ามาสนใจจะได้พอมีแนวทางบ้าง เพราะปรากฎว่าปัจจุบัน นักนิยมพระรุ่นใหม่ๆ จำนวนมากไม่กล้ามุ่งมาเล่นพระเก่า สาเหตุหนึ่งคือไม่มีผู้บอกจริง เกรงถูกต้มตุ๋น และคลำหาแนวทางไม่เจอ สำหรับพระคงก็มีตำหนิลับในแม่พิมพ์หลายแห่งแต่พอสังเกตเป็นหลักใหญ่ๆ 4 จุด คือ
1. บริเวณซอกแขนซ้ายขององค์พระจะมีเส้นแตกเป็นเส้นขนาดกับกล้ามแขนซ้าย
2. บริเวณช่วงกลาง ระหว่างบัวชั้นบนและล่างจะมีเส้นแตกตัวหนอนหรือคล้ายๆ สายฟ้าพาดจากใต้บัวชั้นบนถึงบัวชั้นล่าง
3. แขนซ้ายองค์พระที่วางทอดตัก ตรงกลางมือจะมีเส้นพิมพ์แตก เป็นทิวลากไปถึงศอกขวาขององค์พระ
4. มีเส้นพิมพ์แตกจากกลางหน้าแข้งขวาขององค์พระเฉียง ขนานไปจรดกลางระหว่างขัดสมาธิเพชร  


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: สังขวานร ที่ 14 กันยายน 2007, 09:18:51 AM
เฉดสี : พระเนื้อดินเผาก็ย่อมมีเฉดสีต่างๆ อันเกิดจากการผสมดินเหนียวด้วยดินต่างกันเป็นต้น ตลอดจนการเผาให้ความร้อนสูง-ต่ำต่างกัน ตำแหน่งที่วางอยู่ระยะได้รับความร้อนต่างกัน บางองค์เกิดเฉดเป็น 2 สี เนื่องจากส่วนหนึ่งโผล่ มารับความร้อนแต่อีกส่วนถูกรพะองค์อื่นทับบังไว้ เนื้อส่วนที่โผล่มาก็จะรับความร้อนมากกว่า แข็งแกร่งกว่า (เพราะเนื้อที่ส่วน ละลายเกาะตัวกันมากกว่า) เนื้อส่วนที่ถูก ทับไว้ได้รับความร้อนน้อยกว่าก็จะกลายเป็นพระสองสีในองค์เดียวกันได้ สำหรับพระคง ก็จะมีเฉดสีต่างๆ คือ พิกุล (เหลือง) ชมพู ส้ม แดง ขาว เทา ดำ และเขียว และนับว่าพระเนื้อเขียวจะแข็งแกร่งที่สุด เป็นพระที่นิยม ที่สุดตามแบบฉบับของพระเนื้อดินเผาทั่วไป
สนนราคา : พระคงเป็นพระที่ค่อนข้างจะอาภัพในด้านราคา สาเหตุเนื่องมาจากการที่มีจำนวนมากและหาง่ายในอดีต พระที่มีสภาพ ไม่สวย จึงถูกมากหาได้ในราคาหลักร้อยเท่านั้น ปัจจุบันสภาพปานกลางก็ราคาหลายพันจนขึ้นหลักหมื่น ในสภาพสวยก็หลายหมื่น และท่านคงจะต้องแปลกใจ หากผู้เขียนจะกระซิบบอกว่าในองค์ที่สวยงามมากๆ และโดยเฉพาะเป็นสีเขียว มีราคาอยู่ในหลักแสน เสียแล้วในปัจจุบัน และมีทีท่า ว่าจะขึ้นหลายแสนได้ในองค์ที่งามเด่นเป็นพิเศษ
ท่านจะสังเกตได้ว่าพระบางชนิดในปัจจุบันสร้าง กันนับเป็นจำนวนหลักล้านองค์ ผู้คนยังแย่งกันเก็บเป็นที่ฮือฮากันยิ่ง นับประสาอะไรกับพระคงซึ่งแม้ว่าจะ มีจำนวนมาก แต่ก็คาดว่าไม่เกินแสนองค์หรอกครับ ผู้เขียนจึงอยากชักชวนให้ท่านเสาะหากันไว้ แม้พระในองค์ไม่สวยราคาถูกหน่อย พุทธคุณก็ไม่ต่างกันกับองค์สวย ในอนาคตผู้ที่สนใจอนุรักษ์พระจะมีมากขึ้น พระก็กระจายแยก ไปอยู่ทั่วสารทิศ ในที่สุด..ความต้องการจะมีมากกว่าจำนวนพระ จะเป็นสาเหตุให้พระหายากขึ้น ราคาสูงขึ้นนี่คือกฎความจริงอย่างหนึ่ง สำหรับท่านที่ใหม่กับวงการก็ขอชี้แจงไว้ว่าพระคงมีราคาเช่าหาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสวยและสี กล่าวคือ สีพิกุล (เหลือง-ดินหม้อใหม่) อันมีจำนวน มากจะราคาถูกกว่าสีอื่นใดสภาพเดียวกัน ที่แพงขึ้นไปก็มีสีชมพู สีส้ม สีแดง สีขาว สีดำ และสีเขียว ตามลำดับ สำหรับในองค์สีดำบางท่านอาจค้านว่าราคาแพงกว่าสีเขียว อันนี้ผู้เขียนอธิบายได้ว่า ที่จริงแล้วพระสีดำเดิมจากกรุมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่เห็นๆ กันเป็นพระที่ใช้ฝีมือทำเป็นสีดำภายหลัง พระสีดำจึงอยู่ใน กลุ่มคนเล่นน้อยกว่า พูดง่ายๆ คือพระสีดำเป็นพระ ที่หาคนซื้อขายในราคาสูงๆ ได้น้อยคน แต่สำหรับพระสีเขียว เป็นมาตรฐานกว่าเล่น หากันทุกคน ดังนั้นผู้เขียนจึงมีความเห็น ว่าสีเขียวมาตรฐานที่สุด ทั้งเนื้อพระก็มีความแข็งแกร่งกว่ามาก สวยงาม ดูง่ายกว่า สีดำด้วย อันนี้ต้องออกตัวว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัว สำหรับท่านที่นิยมสีดำก็ไม่เสียหายอะไร เพราะเป็นสีที่หายากกว่า จริงเพียงแต่คนกล้าซื้อราคาสูงมีน้อยกว่าเท่านั้น
ขอส่งท้ายไว้ว่าหากท่านผู้อ่านมีโอกาสเก็บอนุรักษ์พระคงลำพูนก็อย่าได้ลังเลใจ ที่มีไว้แล้วก็จงหวงไว้เถิด เพราะเป็นพระที่มีทั้งความสวย สง่างาม เนื้อหาจัด อายุเก่าแก่ที่สุด ศิลปะการสร้างฝีมือชั้นสูง พุทธคุณดีเยี่ยมเทียมพระรอด แถมยิ่งส่องพิจารณาก็ยิ่งเพลินตาสมควรแก่การ เก็บอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานต่อไป ขอให้ท่านผู้อ่านโชคดีมีพระคงลำพูนเก็บไว้กันทั่วทุกคน สวัสดี  



หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: สังขวานร ที่ 14 กันยายน 2007, 09:24:16 AM
;D หาไว้จ๊ายซักองค์เน้อ พี่เน้อ น้องเน้อ ก่อนจะหาบ่ได้ สิบอกให้  ;D


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: tongn005 ที่ 14 กันยายน 2007, 09:37:37 AM
ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆๆ เป็นเเฟนเวปนี้ในสมัยนั้นเหมือนกันนะครับ


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: nopadol ที่ 14 กันยายน 2007, 10:14:42 AM

ขอบคุณมากครับ คุณสังขวานร ที่ให้สาระข้อมูลดีๆครับ :)


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: aodbu ที่ 14 กันยายน 2007, 01:32:39 PM
ขอบคุณครับพี่สังขวานร นำมาเผยแพร่อีกนะครับ


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: toi ที่ 14 กันยายน 2007, 07:17:17 PM
ตำหนิหมายเลข 1.


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: toi ที่ 14 กันยายน 2007, 07:18:22 PM
หมายเลข 2. ครับ


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: toi ที่ 14 กันยายน 2007, 07:19:26 PM
หมายเลข 3. ครับ ;D


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: toi ที่ 14 กันยายน 2007, 07:21:25 PM
หมายเลข 4. คุณสังขวานรจะชี้ให้ดูครับ แหะๆ ;D


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: pichitpol ที่ 14 กันยายน 2007, 07:48:15 PM
เข้ามาฟังผู้ใหญ่เขาคุยกันเราเด็กๆพลอยได้ความรู้ไปด้วย... ;D


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนนนท์ ที่ 15 กันยายน 2007, 10:44:03 AM
  ผู้ที่รู้ส่วนมากจะหวงความรู้ไม่ค่อยถ่ายทอดให้ใครได้พี่สังขวานร  เสริมด้วยพี่ toi พอเป็นแนวทางการสะสมได้เป็นอย่างดีครับ   ขอบพระคุณมากครับ


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: สังขวานร ที่ 15 กันยายน 2007, 07:18:04 PM
ขอบพระคุณมากครับพี่ toi ที่กรุณานำภาพประกอบมาช่วยให้กระทู้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  :D
ผมขออนุญาตตีตั๋วเด็กนะครับ คุณpichitpol อายุอานามยังไม่ถึงรุ่นป๋าต้อยเค้า  ;D
แอบจำมาเล่าสู่กันฟัง ครับคุณขุนนนท์ ให้เช่าหาด้วยตาตัวเองก็ไม่กล้าหรอกครับ  :'(


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: สังขวานร ที่ 15 กันยายน 2007, 07:20:48 PM
ขอบคุณครับ คุณtongn005 คุณnopadol และคุณaodbu  ;D


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: aodbu ที่ 15 กันยายน 2007, 09:49:29 PM
พี่ต้อยซูมแบบเห็นกันชัดๆ แจ่มเลย
ขอบคุณพี่ต้อยครับ  ;D


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: คางเครา ที่ 18 กันยายน 2007, 10:49:20 AM
แบบนี้ต้องไปลองวิชา หาเก็บไว้บูชาสักองค์


หัวข้อ: Re: *** พระคง จาก คม ชัด ลึก ***
เริ่มหัวข้อโดย: สังขวานร ที่ 18 กันยายน 2007, 07:38:36 PM
คุณคางเครา สู้ สู้  ;D