ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน 27 เมษายน 2024, 09:09:34 AM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: การบริจาคเงินเข้าวัดโฆสิตาราม (สำคัญโปรดอ่าน) http://www.watkositaram.com/forum/index.php?topic=204.0

+  กระดานสนทนา วัดโฆสิตาราม (บ้านแค) จ.ชัยนาท
|-+  ทั่วไทย
| |-+  พระเกจิอาจารย์จังหวัดชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี
| | |-+  ประวัติเเละอภินิหารหลวงพ่อเชน วัดสิงห์
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติเเละอภินิหารหลวงพ่อเชน วัดสิงห์  (อ่าน 25687 ครั้ง)
tongn005
Administrator
Hero Member
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 9,222


singhakhakha@hotmail.com


« เมื่อ: 27 มกราคม 2010, 04:53:12 PM »

   ประวัติวัดสิงห์
วัดสิงห์ตั้งอยู่ที่บ้านวัดสิงห์  หมู่  8  ต.ทับยา  อำเภออินทร์บุรี  จ.สิงห์บุรี   วัดสิงห์น่าจะเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งควรมีอายุ  อยู่ระหว่างกรุศรีอยุธยาตอนปลายต่อจากกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นหรือประมาณเป็นอายุก็ควรอยู่ระหว่าง  300-200  คาดเดาอายุโดยอาศัยการพิจารณาเจดีย์เก่าในวัด ลักษณะรูปสัณฐานของเจดีย์พอจะบ่งบอกได้ถึงศิลปะ  สกุลช่าง  ซึ่งประมาณว่าเป็นช่างตอนปลายกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ข้อมูลอื่นๆและลำดับอดีตเจ้าอาวาส ไม่มีข้อมูลใดๆบ่งบอกไว้ จนมาถึงสมัยหลวงพ่อเชน
   ประวัติหลวงพ่อเชน
หลวงพ่อท่าน มีนามเดิมว่า "เชน แดงน้อย" เกิดเมื่อปี ๒๔๓๓ ณ ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรีโดยมีพี่น้องรวมกันทั้งหมด ๔ คน หลวงพ่อเชนเป็นคนที่สองเป็นบุตรของ  นายจ่าง  นางทองย้อย  สกุล  สุวรรณลำภู  เป็นช่างวัดสิงห์แต่ดั้งเดิม  บิดามารดาก็ประกอบอาชีพทำนา  โดยหลวงพ่อเชนท่านเป็นบุตรคนสุดท้องมีพี่ชายและพี่สาว  4  คนตามลำดับดังนี้   1.  คุณยายปลิก   2.  หลวงตาคำ  (อุปสมบทเป็นพระ)   3.  คุณยายคล้อย   4.  คุณยายใจ  พี่ชายและพี่สาวหลวงพ่อเชนทั้ง  4  คนนี้ก็ถึงแก่กรรมหมดแล้ว  ในวัยเด็กนั้นหลวงพ่อท่านออกจะเป็นคนอาภัพสักหน่อยเพราะว่าบิอามารดาของท่านด่วนจากไปตั้งแต่ท่านยังเล็กๆ อยู่  ท่านจึงต้องอยู่ภายใต้การอุปการะของพี่สาวคนโต  คือคุณยายปลิก  คุณยายปลิก  นั้นท่านแต่งงานแล้วย้ายครอบครัวไปอยู่กับสามีที่บ้านห้วยดอนกระเบื้องซึ่งก็ไม่ไกลจากวัดสิงห์นักหลวงพ่อเชนในวัยเด็กท่านเป็นคนบอบบางร่างเล็กไม่แข็งแรง  เมื่อไปอยู่กลับพี่สาวนั้นอายุอยู่ราว ๆ  12 – 13  ขวบ  ขณะนั้นพี่สาว  คือ คุณยายปลิกก็ยังไม่มีบุตร – ธิดา  เพราะฉะนั้นหลวงพ่อเชนหรือเด็กชายเชน  ในขณะนั้นก็ต้องช่วยการงานของพี่สาวสารพัดตั้งแต่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย  ทำนา  เกี่ยวข้าว

 คุณลุงสมควร      ศรีจันทร์  และคุณลุงหงส์  บุญเหลือ  ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงพ่อได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า  เมื่อต้องรับผิดชอบงานหนักเข้า  สุขภาพร่างกายของหลวงพ่อก็ย่ำแย่เพราะเป็นคนไม่แข็งแรงอยู่แล้ว  จึงแอบคิดอยู่ในใจว่าต้องต้องหาวิธีที่ไม่ต้องเลี้ยงควายและเกี่ยวข้าวเรื่องเกี่ยวข้าวดูจะไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่ากับการเลี้ยงควาย  เพราะถ้าควายดื้อไม่ทำตามท่านก็ไม่กล้าตี  เพราะเป็นคนมีเมตรต่อสัตว์มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย  เมื่อท่านไม่กล้าตีควาย  ควายก็เป็นต้นเหตุให้ท่านถูกพี่สาวตี  เพราะไม่ดูแลปล่อยให้ควายลงไปในนาข้าวบ้าง  บุกรุกเข้าไปกินยอดผักใบไม้ของเพื่อนข้างบ้านบ่าง  จึงถูกตีอยู่เป็นประจำ  หลวงพ่อเชนท่านเคยปรารภ  กับญาติโยมในชั้นหลังว่า  ควายมันเป็นสัตว์ที่มีคุณแก่คนอย่างมาก  มันสละแรงกายรับใช้ไถนา  ให้กับเราแต่พอมันจะขอรับส่วนแบ่งแรงงานของมันบ้างก็ต้องมาถูกทุบตี  ท่านสงสาร  ท่านทำไม่ได้  สู้ยอมถูกพี่สาวตีเสียเองจะดีกว่า เมื่อท่านได้อ่านประวัติของหลวงพ่อเชนจะเห็นได้ว่าหลวงพ่อท่านเป็นผู้เมตตามาตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก  ท่านยังรู้ว่า  ควายซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นมันมีบุญคุณต่อคนอย่างพวกเรา  แทนที่ท่านจะเฆี่ยนตีควายท่านยอมให้พี่สาวเฆี่ยนตีเสียดีกว่าคุณธรรมอันนี้นับว่าจะหายากยิ่ง 

บรรพชา
สมัยที่ยังเป็นเด็ก "หลวงพ่อเชน" มีหน้าที่ช่วยเหลือในการทำนา งานหลักก็คือ การเลี้ยงควาย
มีอยู่วันหนึ่ง ที่เป็นเหตุทำให้เด็กชายเชน ต้องก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นศิษย์ของพระตถาคต ขณะที่ ด.ช.เชน นำควายไปเลี้ยงกลางทุ่ง ควายเกิดดื้อ ด.ช.เชน เกิดความโมโห จึงใช้มีดปลายแหลมขว้างไปที่ควายตัวนั้น ถูกเข้าที่ขาควาย ได้รับบาดเจ็บ เมื่อกลับถึงบ้าน พี่สาวทราบเรื่อง จึงเกิดความโกรธ ถึงกับลงมือทุบตี และออกปากขับไล่ด้วยความโมโห

 เมื่อถูกเฆี่ยนตีหนักเข้าหลวงพ่อเชนท่านจึงเล็งเห็นว่าชีวิตในเพศฆราวาสล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์  ฝืนใจตัวเอง  โดนทุบตีควายก็เป็นทุกข์  ไม่ทำก็ถูกพี่สาวเฆี่ยนตีก็เป็นทุกข์  จึงเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายอยากจะหลีกหนีให้พ้นจากความทุกข์พยายามมองหาวิธีตามประสาเด็กแต่ก็หาไม่พบครั้นจะหนีไปอยู่ที่อื่นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้เอง  จึงได้พยายามคิดหาหนทางที่จะให้หลุดจากภาระหน้าที่เลี้ยงควายเสียก่อน  เมื่อได้คิดดูอย่างละเอียดแล้วเห็นว่าถ้ายังเป็นฆราวาสอยู่ก็คงหนีไม่พ้น  และแลเห็นว่าพระเณรท่านไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ 
ด.ช.เชน เคยหนีไปเป็นเด็กวัด อาศัยอยู่กับ หลวงพ่ออิ่ม วัดสุทธาวาส ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากบ้านพักมากนัก ทำหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่ออิ่ม ต่อมาเมื่อ ด.ช.เชน อายุ ๑๒ ปี หลวงพ่ออิ่มจึงจัดการบวชเณรให้ และสอนพระธรรมวินัย ตลอดจนวิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมให้ สามเณรเชน จนมีความเชี่ยวชาญพอสมควร
หลวงพ่อท่านคิดว่าท่านพบหนทางที่ดีแล้ว  จึงปรารภเรื่องนี้กับพี่สาว  พี่สาวนั้นเมื่อรู้ว่าน้องอยากจะบวชนั้นก็รู้สึกดีใจเพราะตัวเองไม่รู้ว่าน้องจะบวชหนีทุกข์ที่ถูกเฆี่ยนตีและตั้งแต่ว่าจะบวชไม่สึกจึงจัดการบรรพชาให้เสียที่วัดสุทธาวาส  ซึ่งสมัยก่อนนั้นเรียกว่าวัดใหม่  เมื่อสามเณรเชนมีอายุได้ ๒๓ ปี ตรงกับปี ๒๔๕๕ หลวงพ่ออิ่มจึงอุปสมบทให้สามเณรเชน โดยมีท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาแล้วก็ได้ศึกษาธรรมะต่างๆ  จากพระอุปัชฌาย์ซึ่งคือ หลวงพ่ออิ่มและอาจารย์ต่าง ๆ  อีกหลายรูปหลวงพ่อท่านคงสร้างสมบารมีของการบวชมาแต่อดีตชาติ  เพราะเมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสั่งสอนต่าง ๆ  และจดจำได้อย่างแม่นยำไม่เป็นที่หนักใจแก่ครูอาจารย์  เมื่อเป็นที่รักใคร่ของครูบาอาจารย์ความรู้ต่าง ๆ  ก็ได้รับการถ่ายทอดให้จนหมดสิ้น  ทั้งทางด้านปริยัติธรรม  พระสูตร  พระวินัย  ต่าง ๆ  ก็เคร่งครัดหมด  จนศีลของท่านไม่เคยด่างพร้อยมาตั้งแต่เป็นสามเณร  เมื่อมีศีลมีธรรมสุขภาพร่างกายของท่านที่เคยอ่อนแอก็กลับเข้มแข็งกระชุ่มกระชวยมีสง่าราศีเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร 
พระภิกษุเชน พำนักอยู่กับหลวงพ่ออิ่มอีก ๓ ปี จึงขออนุญาตหลวงพ่อออกเดินธุดงค์ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น โดยมุ่งตรงสู่ภาคเหนือและอีสาน กลับมาอีกครั้งเมื่อทราบว่า หลวงพ่ออิ่มมรณภาพแล้ว จึงย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่ วัดสิงห์ และอยู่ต่อมา จนกระทั่งครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสิงห์

ในด้านการศึกษาวิทยาคม ของ หลวงพ่อเชน นอกจากท่านจะศึกษากับหลวงพ่ออิ่มแล้ว ท่านยังไปฝากตัวศึกษากับ หลวงปู่ศรี วัดพระปรางค์ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี สุดยอดพระคณาจารย์ผู้มีวาจาสิทธิ์ และเชี่ยวชาญทางด้านไสยเวทของเมืองสิงห์บุรี (บางแห่งเขียนชื่อท่านเป็น "สี" ซึ่งท่านเป็นอาจารย์ของ หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง ด้วย)
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ หลวงพ่อเชน มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จัดอยู่ในพระคณาจารย์ระดับแนวหน้าท่านหนึ่งของเมืองไทย หลวงพ่อเชน ท่านสนิทสนมกับหลวงพ่อฟุ้ง วัดสะเดา เป็นอย่างมากและไปมาหาสู่กันประจำ มีงานก็มักจะช่วยกันประจำ หลวงพ่อเชน ท่านมีผีมือในศิลปะการปั้น การวาด งานศพของหลวงพ่อศรี ท่านยังปั้นเสือไว้ที่เมรุเผาศพด้วย



   
   หลวงพ่อสำเร็จวิชาเสือสมิง  “เสือ”  “สาง“  “สมิง”  สามอย่างนี้หลายคนมักจะเข้าใจสับสนกัน  โดยเฉพาะ  “สาง”  กับ  “สมิง”  ความเรื่องความแตกต่างของ  2  อย่างนี้ ขออธิบายไว้ไว้พอสังเขป เรื่องเสือนั้นคงไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นสัตว์ป่าดุร้าย  เรียกกันว่า  เจ้าป่า  “สาง”  นี้หมายถึงเสือกินคน  ที่ถูกอาถรรพณ์ของวิญญาณเข้าสิงจนสามารถแปลงร่างเป็นคน  คอยล่อหลอกให้คนเดินป่าหรือพรานหลงเชื่อแล้วจับกินเสีย  แต่กว่าจะกลายเป็น   “สาง”  ก็ต้องกินคนมามากมายหลายคนแล้วและวิญญาณคนที่ถูกเสือกินนั่นแหละก็กลับมาเข้าสิงเสือตัวนั้น  “สมิง”  หมายถึงวิชาทางไสยศาสตร์ที่เกี่ยวกับการแปลงร่างของคนเป็นเสือ  แต่เป็นเพียงภาพลวงตาตามปกติ  สมิงจะทำร้ายคนหรือขบกัดกินคน  สมิงจะมีกิริยาการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าสงบนิ่งส่วนมากจะมอบอยู่เฉย ๆ  เพราะคนที่ฝึกไสยศาสตร์แขนงนี้สำเร็จจะต้องปฏิบัติสมาธิมาอย่างชำนาญและขณะที่เป็นสมิงอยู่ก็กำลังอยู่ในสมาธิ  มีสติครองอยู่จะไม่ทำร้ายคนแต่คนที่พบเห็นจะเกิดความกลัวไปเอง 
   เรื่อง  “สมิง”  นี้มักมีนักเขียนเรื่องป่าเข้าใจผิดนำไปเขียนในทำนองว่า  พบเสือสมิงกินคนแล้วพากันออกล่า  พอล่าได้ก็กลายเป็นคนบ้างเสือเป็นเสือป่า  ความจริงเรื่องที่พรานป่าในนิยายล่ามาได้นั้นเป็นสางไม่ใช่สมิง  เอ

หลายท่านคงสงสัยว่าชาเสือสมิงนี้เค้าฝึกกันทำไม หลายท่านคงเคยได้ทราบเรื่องที่หลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่าท่านเสกทหารของกรมหลวงชุมพรเป็นจระเข้มาบ้างแล้ว  วิชาเสือสมิงก็อาจจะคล้าย ๆ  กัน  เพียงแต่ผู้ฝึกวิชานี้สำเร็จไม่ได้เสกให้คนอื่นเป็นเสือแต่ตัวเองจะกลายเป็นร่างเป็นเสือเอง ส่วนที่ว่าอาจารย์ผู้ฝึกสำเร็จวิชาเสือสมิงบางรายพอแปลงร่างเป็นเสือแล้ว  ไม่สามารถกลับกลายเป็นคนได้ก็มีเรื่องนี้คงมีเคล็ดลับบางอย่าง

พระเถราจารย์รุ่นเก่าที่สำเร็จวิชาเสือสมิงเท่าที่ทราบก็มี  หลวงพ่อปาน  วัดคลองด่านสมุทรปราการ  ส่วนคณาจารย์รุ่นหลังคือก่อน  พ.ศ.  2500  เล็กน้อย  (หมายถึงท่านอาจมีชีวิต  มาถึงหลัง  พ.ศ.  2500  ก็ได้)  ที่ฝึกวิชาเสือสมิงสำเร็จก็มี    หลวงพ่อสมจิตร  วัดสว่างอารมณ์  (ศิษย์หลวงพ่อปาน)  หลวงพ่อวงค์  วัดปริณวาส  (องค์นี้ก็เข้าใจว่าเป็นศิษย์หลวงพ่อปานเช่นกัน)

 เรื่องที่หลวงพ่อเชนท่านสำเร็จวิชาเสือสมิง  มีผู้ยืนยันว่าได้เคยเห็นมากับตาตนเอง  2  ราย  รายหนึ่งนั้นคือ  คุณ  อารมณ์  ช้างทอง  อยู่บ้านเลขที่  38  หมู่  8  ตำบลทับยา  อ.อินทร์บุรี  คุณอารมณ์เล่าว่าไม่ใช่เคยเห็นครั้งเดียว  แต่ที่เคยเห็นเต็มตานั้นเป็นเวลากลางวันด้วย  ขณะนั้นคุณอารมณ์ลงอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหลังวัดพอขึ้นจากการอาบน้ำก็แลไปเห็นเสือลายพาดกลอนขนาด  8  ศอก  สูงใหญ่  ขนาดน้อง ๆ  ม้า  หมอบอยู่ในป่ายางภายในบริเวณวัด  แรกทีเดียวรู้สึกตกใจแต่พอนึกได้ว่า  ในละแวกวัดสิงห์ไม่ใช่ป่าทึบอย่าว่าแต่เสือเลย  สัตว์อื่น ๆ  ก็ไม่มีและนึกต่อไปได้ว่าหลวงพ่อท่านฝึกวิชาเสือสมิงสำเร็จ  เพราะเคยหยอกล้อเอาคนขับรถของชลประทานถึงกับแผ่นมาแล้วก็เลยไม่กลัว  คนขับรถชลประทานที่คุณอารมณ์พูดถึงนี้ก็คือ 

บุคคลที่  2  ที่เคยเห็นหลวงพ่อแปลงร่างเป็นเสือสมิง  แกชื่อ  นายผ่อง  แต่จำนามสกุลไม่ได้  ปัจจุบันก็ยังมีชีวิตอยู่  หลวงพ่อเชนเคยถามนายผ่องว่า  “เฮ้ย  ผ่อง  เอ็งกลัวเสือมั้ยวะ”  ตอนนั้นนายผ่องมาพักอยู่ที่วัดเพราะรถพวกชลประทานมาเก็บไว้ที่วัด  นายผ่องนึกไม่ถึงว่าเสือจะมาจากไหน  จึงตอบหลวงพ่อไปว่า  “ผมไม่กลัวหรอกครับหลวงพ่อเสือนะ”  คืนนั้นนายผ่องนอนหลับไปแล้วแต่ตกดึกหูได้ยินเสียงฝีเท้าย่ำอยู่ข้างนอก  พยายามฟัดดูก็เข้าใจว่าไม่ใช่เสียงคนแน่  จึงแอบดูตามช่อง  พอเห็นเข้าก็ตกใจกลัวแทบสิ้นสติ  เพราะเจ้าของเสียงฝีเท้าข้างนอก  คือเสือลายพาดกลอนตัวเขื่องตัวโตมาก  นายผ่องเฝ้าดูอยู่พักหนึ่งก็เลยเห็นเสือเดินหายไป  พอรุ่งเช้า  นายผ่องมาหาหลวงพ่อเล่าเรื่องเสือให้หลวงพ่อฟัง  หลวงพ่อ  จึงย้อนถามว่า  “ไหนเองบอกว่าไม่กลัวเสือ  แล้วทำไมต้องมาบอกข้าด้วยละ”  เรื่องที่หลวงพ่อสำเร็จวิชาเสือสมิงนี้  ไม่เพียงรู้กันเฉพาะสองคนนี้เท่านั้น  ศิษย์คนอื่น ๆ  ต่างก็ทราบกันดีแต่ไม่เคยจัง ๆ  อย่างคุณอารมณ์และนายผ่องคนงานชลประทานที่กล่าวถึง

ศิษย์ในสายคุณพ่อศรี ที่สำเร็จวิชาเสือสมิง ที่มีการบันทึกหรือกล่าวถึง ก็มี หลวงพ่อหร่ำ วัดวังจิก ใครไปลองดีกับท่าน มักจะเจอกับเสือ จนแทบวิ่งออกจากวัด อีกองค์คือหลวงปู่กวย วัดโฆสิตาราม องค์นี้ไม่ต้องกล่าวอธิบาย ท่านสำเร็จวิชาเก่งๆแทบทุกแขนง ส่วนรุ่นต่อมา ที่ผมได้ฟังมาจากคนใกล้ชิด คือ หลวงพ่อแสวง วัดหนองอีดุก หลวงพ่อแหวงนี้ ดังทางสัก ตะกรุดและเหรียญท่านเหนียว อุดปืนได้เก่ง ไม่แพ้เกจิรุ่นก่อนๆเลย ท่านเคยแปลงร่างเป็รเสือสมิง โดยที่หลานของท่านเคยตืนมาเห็น วิชานี้ หลวงพ่อแหวง ไม่ถ่ายทอดให้ใคร ท่านบอกกลัว แปลงร่างไปแล้ว อาจกลับคืนไม่ได้


   วาจาสิทธิ์
ขอเขียนเรื่องวาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย  เพราะเป็นเรื่องที่ชาวบ้านวัดสิงห์ต่างก็รู้กันดี  เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของคนบาป  อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านวัดสิงห์แล้วทุกวันนี้ลุกหลานของผู้นี้ก็ยังอยู่  จึงไม่ของบอกชื่อของคนผู้นี้  แต่ถ้าถามชาวบ้านวัดสิงห์ดูต่างก็รู้กันดี  เรื่องมีอยู่ว่าได้มีลูกศิษย์คนหนึ่งเอาสร้อยคอทองคำ  พร้อมด้วยพระเลี่ยมทองมาให้หลวงพ่อท่านลงและปลุกเสกเพิ่มเติมให้และได้เอาทิ้งไว้ให้หลวงพ่อปลุกเสกสัก  3  วัน  แต่ก่อนที่เจ้าของจะมารับสร้อยและพระคืนได้ถูกคนบาปผู้หนึ่งหยิบฉวยเอาไปจากหลวงพ่อก่อน  หลวงพ่อท่านเองว่าใครเป็นคนเอาไป  แต่ท่านไม่ต้องการให้เกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียง  หรือเป็นที่รังเกียจของชาวบ้าน  จึงพูดเป็นนัย ๆ  ว่าให้เอามาคืนเสีย  เพราะหลวงพ่อท่านจะได้ส่งคืนเจ้าของ  แต่คนผู้นั้นไม่ยอมรับรู้และไม่เอามาคืนให้กับหลวงพ่อจนกระทั่งท่านต้องทักออกไปว่าถ้าไม่เอามาคืนจะต้องเลือดตกยางออกนะ  เพียงวันรุ่งขึ้นที่หลวงพ่อท่านทักอย่างนั้น  คนบาปคนนั้นก็ไปนาตามปกติ  ขณะที่กำลังเกี่ยวข้าวอยู่หนูนาวิ่งผ่านหน้าจึงได้สันเคียวไล่ตีหนูแต่พอดีปลายเคียวไปเกี่ยวเอาซางข้าวทำให้สะดุดและเท้าไปเหยียบเอาเคียวเต็มแรงถึงกับถูกเคียวบาดเป็นแผลเหวละเอียดเปลอะไปหมด  เมื่อทำบาดแผลเรียบร้อยแล้ว  ก็นึกถึงคำพูดของหลวงพ่อที่บอกว่าถ้าไม่เอามาคืนจะต้องเลือดตกยางออก  จึงเกิดการเกรงกลัวต่อวาจาของหลวงพ่อและรีบเอาสร้อยทองพร้อมพระไปคืนให้กลับหลวงพ่อเรื่องเข้าทำนองสุภาษิต  จีนที่ว่า  “ไม่เห็นโลงศพ  ไม่หลั่งน้ำตา” 



ปาฏิหาริย์หอประชุมพัง
สมัยหลวงพ่ออยู่ท่านสร้างห้อประชุมใหญ่  2  ชั้น  ไว้หลังหนึ่งเอาไว้สำหรับเป็นที่ประกอบศาสนกิจเวลาญาติโยมมาชุมนุมกันจำนวนมาก  หอประชุมหลังนี้มีขนาดใหญ่มาก  ขนาด  2  หน้ามุข  แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะว่าถึงเวลาชำรุดทรุดโทรมหรือว่าการก่อสร้างผิดแบบผิดแปลนอย่างไร  เพราะอยู่ ๆ  ก็พังครืนลงมา  พังไม่พังเปล่าในขณะที่พังลงมาหลวงพ่อท่านจำวัดอยู่ในหอประชุมชั้นล่าง  ในวันที่หอประชุมพังลงมา  บรรดาศิษย์ต่างก็เป็นห่วงหลวงพ่อเพราะทราบว่าหลวงพ่อท่านจำวัดอยู่ชั้นล่าง  แต่หอประชุมชั้นบนพังลงมาทับเอาไว้ทั้งหลัง  หลวงพ่อคงต้องได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัสแน่นอน  จึงได้มาช่วยกันรื้อค้นหาโกลาหล  ที่ค้นก็ค้นกันไปที่เป็นห่วงมากก็ตะโกนเรียกหลวงพ่ออยู่โหวกแหวกแต่ก็ไม่มีเสียงขานตอบจากหลวงพ่อ  คนที่ค้นหาก็ยังไม่พบจึงทำให้หลายคนรู้สึกเบาใจเพราะคิดว่าหลวงพ่อท่านคงไม่ได้อยู่ในขณะที่หอประชุมพังลงมา  แต่ก็ยังไม่หยุดค้นหา  พักใหญ่ต่อมา  บรรดาศิษย์ก็ยังไม่หยุดค้นหา  พอช่วยกันรื้อกองไม้ขึ้นกองหนังซึ่งพังลงมากองเป็นระเบียบเป็นรูปคล้ายกับซุ้มหรือกระโจมเล็ก ๆ  พอรื้อออกมาหมดก็เลยเห็นหลวงพ่อท่านนอนยิ้มอยู่ข้างใน  พอชาวบ้านเห็นว่าหลวงพ่อไม่ได้รับอันตรายต่างก็พากันโล่งอก  บางคนก็บ่นว่าค้นหากันอยู่ตั้งนาน  ตะโกนเรียกก็แล้วหลวงพ่อก็ไม่ขานแต่กลับมานอนยิ้มด้วยความชอบใจอยู่  เมื่อรู้ว่าหลวงพ่อไม่ได้รับอันตรายเลย  ต่างก็พากันแปลกอกแปลกใจและถามหลวงพ่อว่าเจ็บปวดตรงไหนบ้าง  หลวงพ่อท่านก็บอกว่าไม่เจ็บไม่ปวดเลย

   เต่าวัดสิงห์
ในสระน้ำที่วัดสิงห์  หลวงพ่อท่านให้เป็นที่อาศัยของปูปลา  เต่า  ที่ชาวบ้านนำมาปล่อยเพื่อแก้เคล็ดแก้บนสะเดาะเคราะห์  ทุกวันหลวงพ่อท่านจะต้องเอาข้าวมาโปรยให้ปูปลาและเต่ากิน  วันไหนท่านไม่ได้เอามาโปรยให้ด้วยตนเองท่านก็ต้องใช้ให้ศิษย์เอามาแทนท่าน  มีคนใจชั่วคนหนึ่งได้ขโมยเอาเต่าในสระวัดสิงห์ไปแกงกิน  หลวงพ่อรู้เข้า  แทนที่ท่านจะโกรธมีโทสะด่าว่าท่านกลับนิ่งเฉยและพูดขึ้นลอย ๆ  ว่า  ชีวิตสัตว์ในสระนี้เป็นของต้องห้ามและมีอาถรรพณ์  ใครล่วงเกินต้องชดใช้กรรมอันนั้นและในไม่ช้าชาวบ้านที่ขโมยเต่าวัดไปกินก็ต้องมีอันเป็นไปจริง ๆ  และก่อนตายก็ต้องคลานเหมือนกับเต่าและตายด้วยโรคร้าย  ซึ่งรักษาไม่หายต้องทุกข์ทรมานมาก

เรื่องเต่าวัดสิงห์ยังมีอีกเรื่องหนึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นจากหลวงพ่อท่านมรณภาพไปแล้ว  คือ  เมื่อหลวงพ่อมรณภาพและได้ตั้งศพไว้บนศาลาในเช้าวันหนึ่งชาวบ้านพบว่าเต่าที่หลวงพ่อเลี้ยงเอาไว้ในสระพากันคลานขึ้นไปนอนอยู่ใต้โลงศพ ของท่านชาวบ้านพยายามจะจับเต่ากลับลงมายังสระแต่ดูคล้ายกับว่าเต่ามันไม่ยอมกลับมายังสระพยายามตะกายหนีไปแอบอยู่ใต้โลงด้วยอาการเศร้าสร้อย 

   กระป๋องน้ำก้นรั่วตักน้ำ
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่ยังอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านวัดสิงห์  เพราะวันหนึ่งมีญาติโยมมาให้ท่านวดน้ำมนต์และหลวงพ่อใช้ให้ชาวบ้านช่วยไปตักน้ำมาให้ถังหนึ่ง  โดยชี้ไปที่กระป๋องน้ำใบหนึ่ง  พร้อมกับบอกว่าให้ไปตักน้ำมาให้  ชาวบ้านผู้นั้นพอแลเห็นว่ากระป๋องใบนั้นก้นรั่วจะใช้ตักน้ำไม่ได้  จึงถามหลวงพ่อว่ามีกระป๋องน้ำใบอื่นหรือไม่  เพราะใบนี้รั่ว  แต่แทนที่หลวงพ่อท่านจะบอกให้ไปเอากระป๋องใบอื่น  ท่านกลับบอกว่า  “ไม่รั่วหรอกตักได้”  ชาวบ้านผู้นั้นก็เถียงว่า  “รั่วครับ”  พร้อมกับหยิบมาให้หลวงพ่อดู  เมื่อท่านเห็นแล้วท่านก็ยังบอกว่า  “ไม่รั่วหรอกลงไปตักดูซิ”  ชาวบ้านผู้นั้นก็เกิดอยากลองดีกับหลวงพ่อเพราะบอกแล้ว  ท่านก็ไม่เชื่อ  จึงคิดว่าจะตักน้ำมาให้ดู  ปรากฏว่าพอจ้วงลงไปตักน้ำขึ้นมาเต็มกระป๋องและหิ้วมาให้หลวงพ่อก็ได้สังเกตดูว่าน้ำจะรั่วหรือไม่  ปรากฏว่าไม่มีน้ำหยดออกมาจากก้นกระป๋องแม้แต่หยดเดียว  เมื่อมาถึงหลวงพ่อท่านจึงย้อนถามว่ากระป๋องรั่วหรือเปล่าชาวบ้านผู้นั้นก็บอกว่าไม่รั่วครับ


เป็นห่วงศิษย์
มีศิษย์หลวงพ่อคนนึง ชื่อนายกุ๋ย นายกุ๋ยเป็นนักร้องที่ร้านอาหารแห่งนึง นายกุ๋ยเป็นคนนิสัยดี แต่ก็ต้องเจอกับกรรมเก่า ที่ร้านอาหารแห่งนั้น ตอนทำงานนายกุ๋ยก็หนีกฎเกณฑ์  ธรรมดาไปไม่พ้น  นั่นคือเมื่อมีคนรักก็ต้องมีคนเกลียดเข้าทำนองสุภาษิตที่ว่า  “คนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ”  นายกุ๋ยมีคู่แข่งที่เป็นนักร้องด้วยกันและไม่ชอบหน้ากันด้วยเรื่องอื่น ๆ  อีกหลายเรื่อง  เช่นเรื่องผู้หญิง  เรื่องงาน  เรื่องเจ้านาย  คู่อาฆาตของนายกุ๋ยค่อนข้างเป็นคนมุทะลุและใจดำโหดเหี้ยมได้เคยกล่าวอาฆาตนายกุ๋ยไว้หลายหน  จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเมื่อมีเรื่องต่อปากคำกันแล้วหลังจากเลิกงาน  คู่อาฆาตก็ไปดักรอนายกุ๋ย  พร้อมด้วยพักพวกหลายคน  นายกุ๋ยไม่คิดว่าเหตุร้ายจะเกิดกับตัวและคิดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุวิวาทกันเมื่อค่ำนี้จนถึงกับต้องเอาชีวิตกัน  กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว  พอนายกุ๋ยเดินเข้าบ้านซึ่งเป็นที่เปลี่ยวก็ถูกรุมตีด้วยท่อนไม้หลายอัน  จนถึงกับสลบเหมือดฝ่ายผู้ตีต่างก็หนำใจแล้วจะคิดว่าอย่างไรนายกุ๋ยต้องตายแน่  เพราะถูกรุมตีน่วมไปทั้งตัว  เหตุการณ์เกิดดึกมากแล้วกว่าจะรู้สึกตัวก็ใกล้รุ่งเต็มที่เมื่อนายกุ๋ยรู้สึกตัวนั้นคล้ายกับฝันไปว่า  หลวงพ่อเชนท่านมาปลุกให้ลุกขึ้น  พอรู้สึกตัวจึงรู้ว่าถูกรุมทำร้ายแต่บาดแผลก็ไม่มี  มีแต่อาการปวดเมื่อยระบมไปทั้งตัว  ต้องพักผ่อนอีกหลายวันจึงจะหายเป็นปกติได้ 




ตะกรุดเด่น ดาราดัง
สมบัติ เมทะนี เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเชน ดาราและผู้สร้างหนังหลายท่านก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเชน เรื่องราวตะกรุดหลวงพ่อเชน เพราะสมบัติ เมทะนี และผู้สร้างภาพยนต์มาเห็นประสบการณ์จึงนำไปสร้างภาพยนต์เรื่อง "ตะกรุดโทน" เป็นเรื่องราวตะกรุดของหลวงพ่อเชน สมบัติฯ แสดงนำ เมื่อตอนที่หลวงพ่อยังอยู่ สมบัติจะนำภาพยนต์ไปฉายประจำ สมเด็จหลวงพ่อรุ่นแรก ในพื้นที่เขาก็เรียกกันว่า รุ่น สมบัติ เมทะนี .....

หลวงพ่อเชนท่านชอบเลี้ยงสุนัข เลี้ยงเต็มกุฏิของท่าน เวลาท่านนั่งอยู่ สุนัขของท่านก็จะล้อมเต็มเลย และเมื่อครั้งมาปลุกเสกเหรียญดอกจิกปี13 หลวงพ่อโอด ที่วัดจันเสน รุ่นที่หลวงพ่อพรหมท้าให้เอาปีนมายิง ข้ามหลังคาโบสถ์ท่านก็มาร่วมปลุกเสกด้วยและท่านก็จำวัดในโบสถ์กับหลวงพ่อพรหมวัดช่องแคด้วยเช่นกัน

ท่านก็จะทำตะกรุดห้อยคอสุนัขของท่านไว้ เพราะสุนัขของท่านถูกชาวบ้านทำร้ายบ่อย สุนัขที่ห้อยตะกรุดถูกยิงไม่เข้า สมบัติ เมทะนี เห็นเข้า จึงนำมาสร้างหนัง เขาว่าตะกรุดที่ท่านทำให้คุณสมบัติเมทะนี เป็นตะกรุดเนื้อทองคำ
ภาพยนต์เรื่อง นักฆ่าตะกรุดโทน ฉายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ ผู้กำกับคือ คุณจรัญ พรหมรังสี
นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี อรัญญา นามวงศ์ นิรุตต์ ศิริจรยา.......

วิชาตะกรุดท่านดังเเค่ไหน ขนาด หลวงพ่อโอด วัดจันเสน ศิษย์หลานในคุณพ่อเดิม ยังมาขอเรียนวิชาตะกรุดจากหลวงพ่อเชน ใครมีตะกรุดท่านเเท้ๆ เก็บรักษาไว้ให้ดีนะครับ

   วันมรณภาพ
ก่อนที่หลวงพ่อท่านจะมรณภาพไม่ได้มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้าก่อนเลย  แต่พอถึงวันโกนกลางเดือน  5  ขึ้น  14  ค่ำ  พ.ศ.  2516  หลวงพ่อท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยความชราโดยสงบยังความเศร้าโศกเสียใจแก่บรรดาศิษยานุศิษย์  อย่างใหญ่หลวงในวันที่หลวงพ่อมรณภาพปรากฏว่าบรรยากาศภายในวัดมืดครื้มทั้ง ๆ  ที่ยังเป็นตอนกลวงวันและมีลมพัดหวลอื้ออึงอยู่พักใหญ่  พอพระเณรที่พบว่าหลวงพ่อสิ้นใจแล้วตีกลองบอกญาติโยมให้มาชุมนุมกันสายลมที่พัดอย่างไม่มีเค้ามาก่อนก็สงบลงเองอย่างน่าอัศจรรย์     


* shen1.jpg (33.49 KB, 300x380 - ดู 21171 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

อะปะจะคะ ปะจะคะอะ จะคะอะปะ คะอะปะจะ
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.10 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!