ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน 19 เมษายน 2024, 11:30:24 PM
หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก
ข่าว: เชิญบูชาล็อกเก็ตหลวงพ่อกวย บรรจุมวลสารพิเศษ http://www.watkositaram.com/forum/index.php?topic=8540.0

+  กระดานสนทนา วัดโฆสิตาราม (บ้านแค) จ.ชัยนาท
|-+  ทั่วไทย
| |-+  พระเกจิอาจารย์จังหวัดชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี
| | |-+  ประวัติและประมวลภาพ หลวงพ่อเคลือบ วัดบ่อแร่ จ.ชัยนาท
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] 2 พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติและประมวลภาพ หลวงพ่อเคลือบ วัดบ่อแร่ จ.ชัยนาท  (อ่าน 37408 ครั้ง)
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 06:38:50 PM »

                                          ประวัติพระครูวิจิตรชัยการ
                                         (หลวงพ่อเคลือบ โกสลฺโล)
                         วัดบ่อแร่ธรรมเจริญศรี อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
      พระครูวิจิตรชัยการ (หลวงพ่อเคลือบ โกสลฺโล) มีนามเดิมว่า เคลือบ นามสกุล เกศประทุม เกิดเมื่อวันจันทร์ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ ตรงกับวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๒ ณ บ้านบ่อแร่ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ่อแร่ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท พื้นเพเดิมบรรพบุรุษของท่านเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี (สังเกตจากนามสกุลของท่านที่มีคำว่า “ประทุม”เป็นสร้อยอยู่ด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกันกับชื่อเดิมของจังหวัดคือ “ประทุมธานี” )แล้วจึงโยกย้ายมาอยู่ที่บ้านบ่อแร่นี้ในภายหลัง บิดาของท่านชื่อ ทัพ มารดาชื่อ คล้าย ( สำหรับมารดาของท่านนั้นเล่าลือ
กันว่าเมื่อครั้งยังเป็นสาวเป็นหญิงที่มีผิวพรรณผุดผ่องและมีรูปโฉมงามที่สุดในบรรดาสาวชาวบ้าน
ในพื้นบ้านทางแถบนี้ ) มีพี่น้องร่วมกันทั้งสิ้น  ๖ คน โดยเรียงรายชื่อตามลำดับได้ดังนี้
    ๑.นายสระ เกศประทุม
        ๒.นายบุญ  เกศประทุม
        ๓.นางกาหลง   
        ๔.พระครูวิจิตรชัยการ (เคลือบ โกสลฺโล)
        ๕.นายแต๋ว  เกศประทุม
        ๖.นางเป้า
        หลวงพ่อท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจฝักใฝ่ในทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เยาว์วัย ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบกันมาว่า สมัยเมื่อท่านยังเป็นเด็ก ท่านมักจะมาเลี้ยงควายในป่า ซึ่งเป็นบริเวณวัดอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นประจำ เมื่อปล่อยควายแล้วท่านก็จะทำการถากถางป่า ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นป่ารกชัฎ เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ที่เบียดเสียดกันอยู่อย่างหนาแน่น มีเพียงกุฏิมุงแฝกอยู่แค่ ๒-๓ หลัง คนแก่ในสมัยนั้นถามท่านว่า “ถางไปทำไมล่ะเคลือบ” ท่านตอบว่า “โตขึ้นฉันจะสร้างวัดจ๊ะ” ใครได้ยินได้ฟังก็อดนึกขำในใจไว้เสียไม่ได้  ไม่มีใครคาดคิดว่า นั่นจะเป็นปณิธานอันแน่วแน่ของเจ้าอาวาสองค์สำคัญที่นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชุมชน และเป็นปฐมาจารย์ผู้วางรากฐานทั้งทางด้านศาสนวัตถุและศาสนธรรม ให้แก่วัดบ่อแร่ธรรมเจริญศรีไว้อย่างแน่นหนา อีกทั้งยังเป็นร่มโพธ์ร่มไทรใหญ่ที่แตกกิ่งก้านสาขาเป็นร่มบุญร่มบารมีคุ้มเกล้าคุ้มกระหม่อมให้แก่เหล่าศิษยานุศิษย์ทั่วทุกสาระทิศ อันหาที่จะประมาณมิได้


* P1010035.jpg (57.45 KB, 500x667 - ดู 18597 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #1 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 06:45:40 PM »

ด้วยอุปนิสัยใฝ่ในทางธรรม ชีวิตในวัยหนุ่มของท่านจึงแตกต่างจากหนุ่มวัยฉกรรจ์โดยทั่วไป มิได้มีความคึกคะนองโลดโผนและฝักใฝ่ในอิตถีเพศเฉกเช่นหนุ่มวัยเดียวกัน ไม่มีความยินดีในวิถีชีวิตตามแบบฆราวาสวิสัย นับวันจิตใจของท่านยิ่งโน้มเอียงไปสู่เพศบรรพชิต  เมื่ออายุได้เกณฑ์บวชท่านจึงเข้าอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ ณ อุโบสถวัดหนองจิก ในคราวจัดงานผูกพัทธสีมา โดยมีพระครูอุทานธรรมนิเทศ (ใจ คังคสโร) วัดมณีธุดงค์(ทุ่งแก้ว) จ.อุทัยธานี เป็นพระอุปัฌชาย์ พระอธิการยอด วัดหนองจิกเป็นพระกรรมวาจาจารย์ (สำหรับพระครูใจ ภายหลัง
ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณะศักดิ์เป็น“พระสุนทรมุนี” ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะ
จังหวัดอุทัยธานีรูปที่ ๓ ต่อจากเจ้าคุณเจี้ยม  วัดเขาโคกโคและเจ้าคุณจัน วัดโบสถ์ )เมื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์แล้วได้รับฉายาในทางพระพุทธศาสนาว่า “โกสลฺโล”อันมีความหมายว่า “ผู้มีปัญญาอันแยบคายขจัดได้เสียซึ่งรากเหง้าแห่งอาสวะกิเลสทั้งปวง”
หลังจากอุปสมบทแล้วได้อยู่ศึกษาศีลาจริยาวัตรตลอดจนแนวทางปฏิบัติเจริญจิตตภาวนาเบื้องต้นกับพระอธิการยอดหรือหลวงพ่อพรหมสรยอด วัดหนองจิก เมื่อหลวงพ่อเคลือบท่านได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติและสรรพวิชาต่างๆที่หลวงพ่อพรหมสรยอด ถ่ายทอดให้พอได้เป็นความรู้พื้นฐานติดตัวบ้างแล้ว ท่านก็ได้เดินทางไปศึกษาทางด้านปริยัติธรรมในสำนักวัดทุ่งแก้ว จ.อุทัยธานี ได้ประมาณ ๒ พรรษา เนื่องจากสำนักของพระครูใจในสมัยนั้น มีพระเณรจากที่ต่างๆเดินทางมาจำพรรษาเพื่อทำการศึกษาเล่าเรียนกันเป็นจำนวนมาก เรื่องการขบฉันจึงต้องอาศัยกำลังของพระเณรช่วยกันปรุงแต่งขึ้นมาเองอีกทางหนึ่งด้วย เมื่อหลวงพ่อไตร่ตรองตามพระธรรมวินัยแล้ว เห็นว่าการปรุงอาหารขึ้นเองนั้นไม่สู้จะเหมาะสมต่อสมณะสารูปนัก จึงได้เดินทางออกจากวัดทุ่งแก้ว


* P1010026.jpg (57.05 KB, 500x667 - ดู 15260 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #2 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 06:49:20 PM »

ต่อมาภายหลังหลวงพ่อเคลือบท่านได้ออกธุดงค์เพื่อฝึกจิตกระทำความเพียรและเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะเป็นผู้ชี้แนะแนวทางสั่งสอนในวิทยาการต่างๆ ที่สมณะผู้เป็นหน่อเนื้อพระชินสีห์พึงทำการศึกษา ความสนใจใคร่รู้ของท่านถือได้ว่าเป็นบุคคลผู้ทรงไว้ด้วยความเป็นพหูสูต แม้จะเป็นสรรพวิชาที่จัดว่าเป็นโลกียะวิทยา หมายถึงวิชาในทางอภินิหารต่างๆซึ่งถึงแม้จะมีคุณวิเศษเหนือกว่าบุคคลโดยทั่วไปก็ตาม แต่ก็ยังไม่ใช่วิชาที่จะชำระอาสวะอวิชชาให้สิ้นไปได้ และยังไม่ใช่หนทางอันเป็นที่สุดแห่งกองทุกข์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังพอเป็นประโยชน์ที่จะนำไปสงเคราะห์ต่อญาติโยมตามสมควรในกาลต่อไป ท่านก็น้อมศึกษามาทั้งสิ้น  ไม่ว่าสำนักใดใดที่มีชื่อเสียง ท่านก็สู้อุส่าห์ดั้นด้นไปด้วยความสนใจใฝ่ศึกษา และสำหรับในแถบนี้สำนักพุทธาคมที่กำลังลือลั่นอยู่ในสมัยนั้น คงไม่มีใครเกินสำนักวัดปากคลองมะขามเฒ่า อันมีหลวงปู่ศุขเป็นองค์ปรมาจารย์ ส่วนท่านจะได้ศึกษาวิชาอะไรมากน้อยแค่ไหนไม่อาจทราบได้ เพราะท่านเองก็ไม่ค่อยได้กล่าวถึงให้ดูเป็นการโอ้อวดแต่ประการใด แต่ต่างเป็นที่รู้กันว่าศิษย์ในสายวัดปากคลองฯต่างให้ความเคารพยกย่องท่าน จะเห็นได้ว่าในช่วงหลังปี พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นต้นมา หากทางวัดปากคลองฯ ทำการจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้น ก็มักนำมาให้ท่านปลุกเสกเสมอ
นอกเหนือจากวิชาสายวัดปากคลองฯแล้วหลวงพ่อท่านยังได้ทำการศึกษาแลกเปลี่ยนวิชาในสายอื่นๆเพิ่มเติมอีกในระหว่างที่ออกจาริกธุดงค์รอนแรมไปในที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ  ภูมิรู้ของท่านถือได้ว่าเป็นผู้มีวิชาอาคมอยู่ในระดับสูง แต่โดยจริตของท่านยังไม่พึงใจนักสำหรับผลที่ปรากฏกับจิต ด้วยอุปนิสัยความเป็นคนจริงลงมือทำอะไรจะต้องได้ผลเลิศ ท่านจึงปารถนาให้การปฏิบัติของท่านยิ่งไปกว่านั้น เป็นอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา  เป็นมัคมรรคาที่จะนำไปสู่มรรคผลนิพพานในกาลต่อไป
จนกระทั่งในระหว่างที่ท่านออกจาริกธุดงค์อยู่นั้น ท่านก็ได้พบกับพระพุทธสราจารย์ หรือที่รู้จักกันในนามหลวงพ่อเพา พุทธสโร แห่งสำนักวัดเขาวงกฎ จ.ลพบุรี เมื่อท่านได้เห็นศีลาจารวัตรและได้ปฏิสันถารกันบ้างแล้วก็ยิ่งก่อให้เกิดความเคารพศรัทธาในแนวทางปฏิบัติ จึงได้ติดตามไปศึกษาพระกรรมฐานที่สำนักวัดปฐมพานิช จ.ลพบุรี หลวงพ่อวัดเขาวงกฎท่านนี้เป็นที่แซ่ซ้องกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ที่มีปฏิปทาศีลาจารวัตรที่เคร่งครัดงดงามน่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนเป็นพระนักปฏิบัติผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในทางสมถะและวิปัสสนากรรมฐานอย่างยิ่งยวด การประพฤติปฏิบัติของท่านเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานโดยแท้  ต่างเป็นที่ยอมรับกันว่าภูมิจิตภูมิธรรมของท่านเข้าขั้นพระอริยะและสำเร็จฌานสมาบัติขั้นสูงเลยทีเดียว ว่ากันว่าท่านสามารถเพ่งปรอทเหลวๆให้แข็งตัวได้ในพริบตา  เวลาท่านจะทำพระพิมพ์แจกให้กับผู้ใดท่านจะหยิบก้อนตะกั่วดิบมาวางไว้บนฝ่ามือแล้วเพ่งให้ตะกั่วดิบนั้นเหลวคามือของท่าน เมื่อตะกั่วดิบเหลวเป็นน้ำแล้ว ท่านก็จะเทลงสู่แม่พิมพ์ เมื่อสำเร็จเสร็จเป็นองค์พระก็ยื่นให้กับผู้นั้นได้ในเดี๋ยวนั้นเลย วิธีสร้างลูกอมของท่านก็พิสดารอยู่เช่นกันกล่าวคือท่านจะหยิบก้อนดินสอพองมาบดขยี้ให้ป่นละเอียดบนฝ่ามือของท่านแล้วท่านก็สามารถปั้นดินสอพองป่นๆนั่นให้แข็งเป็นก้อนขึ้นมาได้ในฉับพลัน  เรื่องนี้สอดคล้องกันกับบทความของ จ.ส.อ.เอนก เจกะโพธิ์ ที่บันทึกจากคำบอกเล่าของพระครูโสภณธรรมาจารย์(หลวงพ่อสุด)วัดปฐมพานิชไว้ว่า  “อนึ่งเรื่องการสร้างวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังครั้งแรกเลยนั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ หลวงพ่อเพาท่านได้สร้างพระนาคปรกองค์เล็กๆเนื้อผสมปรอทกับลูกอม ๒ อย่างเท่านั้น เพื่อแจกเฉพาะพระที่เป็นสหธรรมิกในเวลาออกธุดงค์ ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก”


* PA260158.jpg (52.29 KB, 500x667 - ดู 18600 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #3 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 06:52:06 PM »

ผู้ที่เข้ามาศึกษาพระกรรมฐานในสำนักวัดปฐมพานิชในครั้งนั้นมีทั้งเหล่าพระภิกษุและฆราวาสมากมายจากทั่วทุกสาระทิศ หลวงพ่อสุด เจ้าอาวาสวัดปฐมพาณิชได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิปทาของหลวงพ่อเคลือบไว้อย่างน่าชื่นชมว่า “เรื่องการปฏิบัติของท่านเคลือบนั้น นับจากเหนือจรดใต้ล้วนแต่ยอมยกให้ท่านคลือบเป็นที่หนึ่ง”กล่าวคือ “องค์อื่นเขานั่งกัน ๑ ชั่วโมง ท่านเคลือบนั่งได้ ๓ ชั่วโมง เขานั่งกัน ๓ ชั่วโมง ท่านเคลือบนั่งได้ ๕ ชั่วโมง ท่านเร่งความเพียรของท่านอย่างนี้เรื่อยไป จนกระทั่งหนักเข้าๆนั่งทั้งวันทั้งคืนไม่ฉันข้าวฉันน้ำเลยทีเดียว” ปฏิปทาของหลวงพ่อนั้นเป็นที่ยกย่องและสร้างความพึงพอใจให้เกิดแก่หลวงพ่อเพาเป็นยิ่งนัก หลวงพ่อพระครูศักดิ์เล่าว่าถึงขนาดที่หลวงพ่อเพาท่านสร้างกุฏิที่เขาวงกฎเพื่อเอาไว้สำหรับต้อนรับหลวงพ่อเคลือบโดยเฉพาะเลยทีเดียว
    การถือธุดงค์ของท่านนี้ได้ถือปฏิบัติมาโดยตลอด แม้เมื่อมาสร้างวัดบ่อแร่แล้วก็ตาม สิ้นฤดูกาลเข้าพรรษาเมื่อไร ท่านก็จะออกจาริกธุดงค์ของท่านเสมอ บางคราวก็กลับมาในพรรษานั้น บางคราวก็หายไปหลายๆพรรษา มีอยู่คราวหนึ่งท่านไปธุดงค์กลับมาผ่านทาง ช่องใหญ่ช่องเล็ก แถวๆเขาไก่ห้อย จ.อุทัยธานี ขณะนั้นท่านเกิดอาพาธอุณหภูมิในร่างกายมีความร้อนสูงและมีอาการกระหายน้ำอย่างหนัก อาการไข้ของท่านในคราวนั้นถือได้ว่ารุนแรงเป็นที่สุดแม้ขนาดตัวท่านเองก็คิดว่าจะเอาตัวไม่รอด เพื่อบรรเทาอุณหภูมิในร่างกายและแก้อาการกระหายน้ำ ท่านจึงตัดสินใจขุดดินทรายให้เป็นหลุมแล้วลงไปนอนใช้มือโกยดินทรายกลบร่างตนเองเอาไว้ เพียงหวังว่าความชื้นที่มีอยู่ในดินทรายจักได้ผ่อนปรนทุกขเวทนาอันแรงกล้านั้นได้บ้าง หรือถึงแม้จะไม่อาจทุเลาเบาบางลงเมื่อถึงที่สุดแห่งธาตุขันธ์แล้วก็จักได้ไม่เป็นที่อุจาดและต้องเป็นธุระของใครในภายหลัง พอดีมีโยมผ่านมาพบเข้าจึงได้ช่วยนำท่านขึ้นมาทำการปฐมพาบาลตามประสาชาวบ้านจนกระทั่งอาการของท่านคลี่คลายลง จึงนำท่านใส่เกวียนกลับวัด
ในช่วงแรกๆนั้น ท่านยังมีความสนใจในทางไสยเวทย์อยู่บ้าง แต่ต่อมาภายหลัง หลังจากที่ได้รับการศึกษาพระกรรมฐานและได้รับระเบียบแบบแผนจากสำนักเขาวงกฎไปท่านก็มีความยินดีในธรรมปฏิบัติที่เป็นโลกุตรธรรมมากกว่าไสยเวทย์วิทยาคมเหล่านั้น จนกระทั่งไม่ปรากฎให้ผู้ใดได้พบเห็นอีกเลยในเรื่องที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์มาจนตลอดชีวิตของท่าน ทางด้านครูบาอาจารย์นั้นท่านมักจะไม่ค่อยพูดถึง จะมีก็แต่หลวงพ่อเขาวงกฎนี่แหละที่ท่านมักจะกล่าวยกย่องในปฏิปทาให้ศิษยานุศิษย์ได้รับฟังอยู่บ่อยครั้ง จุดมุ่งหมายของท่านก็คงต้องการให้เป็นแบบอย่างแก่บรรดาพระเณรได้ถือปฏิบัติเจริญรอยตาม
ในด้านกิริยามารยาทของท่านนั้นก็ล้วนแต่เป็นไปอย่างสุขุมนุ่มนวลมีความละเอียดประณีตอยู่ทุกอิริยาบถ มีปกติถ่อมตนไม่โอ้อวด มีความสันโดษเรียบง่าย พอใจใช้แต่ของปอนๆ มักซ่อมแซมของเก่าของชำรุดเพื่อนำมาใช้งานต่ออยู่เสมอ ไม่นิยมเปลี่ยนไปใช้ของใหม่ แม้จะมีอยู่มากก็ตามที เป็นผู้มีขันติธรรมเป็นเลิศ เป็นผู้ที่มีระเบียบจัดและเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างยิ่งยวด จะเห็นได้ว่าท่านจะมีความสังวรระวังในอิริยาบทต่างๆ อยู่เสมอ เช่นการนั่ง ท่านจะถือการนั่งพับเพียบเป็นวัตร ท่านนั่งพับเพียบในลักษณะอย่างไร ท่านก็จะนั่งอยู่อย่างนั้นลำตัวตั้งตรงสงบนิ่งไม่วอกแวก เป็นวันๆท่านก็นั่งของท่านได้ โดยไม่มีการขยับตัวหรือสลับขาแต่อย่างไรเลย นอกเสียจากมีกิจอันใดในขณะ  เมื่อจะลุกขึ้นยืนก็เป็นไปอย่างนิ่มนวลไม่พรวดพราด ปฏิปทาในการนั่งพับเพียบของท่านนี้เป็นที่โจษขานกันอย่างกว้างไกล ท่านสามารถทรงอิริยาบถในลักษณะนี้ติดต่อกันได้นานถึง ๗ วัน โดยมิได้ขยับเขยื้อนร่างกายแต่อย่างไรเลย เรียกว่าพระสงฆ์องค์เณรในละแวกอุทัยฯ – ชัยนาท และในจังหวัดใกล้เคียงทางแถบนี้ ยังไม่มีปฏิปทาของท่านผู้ใดจะเสมอเหมือน  แม้ในอิริยาบทเดินก็เช่นกัน ท่านจะเดินช้าๆลำตัวไม่โยกโคลง มือไม้ไม่แกว่งไกวไปมา ไม่เหลียวหน้าไม่แลหลัง หากท่านจะเหลียวมาบ้างก็มิใช่หันศีรษะมาอย่างธรรมดาสามัญทั่วๆไป แต่ท่านจะเริ่มจากการเปิดปลายเท้าขึ้นแล้วจึงหมุนเท้าไปในทิศทางที่ท่านจะหัน จากนั้นจึงค่อยๆบิดลำตัวหันตามไป ประดุจดังกิริยาของพญาคชสารอันสง่างามเหมาะสมต่อความเป็นสมณะสารูปโดยแท้ 


* P8180130.jpg (57.65 KB, 500x667 - ดู 17117 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #4 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 06:55:55 PM »

คราวหนึ่งท่านและพระลูกวัดออกไปกิจนิมนต์นอกวัด(แต่ก่อนใช้การเดินเท้า) ครั้นเมื่อขากลับระหว่างทางเกิดฝนตกลงมาอย่างรุนแรง หลวงพ่อท่านผู้เป็นองค์นำแถวยังคงเดินไปด้วยกิริยาอันสงบตามปกติ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พระลูกวัดซึ่งเดินตามเป็นลูกแถวก็ต้องเดินไปอย่างท่านไม่มีใครกล้าแตกแถวออกไป นับว่าเป็นปฏิปทาที่งามตาน่าเลื่อมใสและหาดูได้ยากนักยิ่งด้วยในสมัยนี้คงไม่ต้องกล่าวถึง
สมัยก่อนนั้นเวลาที่หลวงพ่อมีธุระที่จะต้องเดินทางเข้าตัวอำเภอวัดสิงห์ในแต่ละที มักจะมีบรรดาญาติโยมหอบหิ้วกระจาด ตะกร้า กระบุง สาระพัดที่จะจัดแจงกันมา พากันติดสอยห้อยตามหลวงพ่อมาเป็นขบวน  สาเหตุก็เนื่องมาจากในสมัยนั้นโจรผู้ร้ายชุกชุม พร้อมที่จะซุ่มประทุษร้ายต่อร่างกายและทรัพย์สินได้ตลอดเวลาบรรดาญาติโยมทั้งหลายเหล่านั้นที่ติดตามหลวงพ่อทุกคราวก็ด้วยหวังอาศัยบารมีหลวงพ่อคุ้มเกล้าคุ้มกระหม่อมให้การเดินทางของตนเป็นไปโดยสวัสดิภาพ เพราะไม่ว่าโจรหน้าไหนล้วนแต่ให้ความเคารพยำเกรงในบารมีแห่งองค์ท่าน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีโจรกลุ่มไหนกล้าเข้ามาวอแว แม้จะมีผู้ติดตามมาเป็นขบวนมากน้อยสักเพียงไหนหรือระหว่างทางจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างท่านไม่เคยหวั่นไหว มิได้แสดงอาการเหลียวซ้ายแลขวาให้เห็นเลยท่านยังคงไว้ด้วยความสุขุมคำภีรภาพมีจิตมุ่งมั่นอยู่เฉพาะหนทางเบื้องหน้าเท่านั้น พวกชาวบ้านที่อยู่ระหว่างทางเมื่อรู้ว่าหลวงพ่อเดินทางผ่านมา ต่างก็จะจูงลูกจูงหลานมากราบหลวงพ่อ แต่ไม่ว่าผู้ใดถ้าจะกราบท่านจะต้องไปดักอยู่ข้างหน้าท่าน ถ้าหากท่านผ่านไปแล้วอย่าหวังเลยว่าท่านจะหันกลับมา แม้จะมีฝูงวัวฝูงควายขวางกั้นอยู่ข้างหน้าหลวงพ่อท่านก็มิได้มีอาการประหวั่นพรั่นพรึงแต่อย่างไรเลย วัวควายต่างเป็นที่รู้กันว่าไม่ค่อยถูกโฉลกกับสีสดโดยเฉพาะสีเหลืองของจีวรพระด้วยแล้ว ถือว่าล่อแหลมต่ออันตรายเป็นที่สุด แต่กระนั้นท่านก็ยังคงไว้ซึ่งสติอันตั้งมั่นเดินผ่านฝูงวัวฝูงควายเหล่านั้นไปอย่างดุษณียภาพ นับว่าเป็นความอาจหาญและแสดงถึงสมาธิจิตอันแน่วแน่ของท่านได้อย่างชัดเจน
แม้แต่การนุ่งห่มหลวงพ่อท่านก็จะถือเคร่งครัดในเรื่องของการครองผ้าสามผืน หรือที่เรียกกันว่าไตรจีวร อันประกอบไปด้วย สบง จีวรและสังฆาฏิ ตรงกับหลักธุดงค์ ๑๓ ในข้อที่ว่า “เตจีวริกังคธุดงค์”เป็นผู้สมาทานเว้นเสียซึ่งผ้าผืนที่สี่  ดังจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ญาติโยมเข้ามาปฏิสันถารจะพบเห็นหลวงพ่อท่านห่มผ้าลดไหล่ตรึงลูกบวบเสียแน่นหนาและพาดผ้าสังฆาฏิไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เป็นนิจ  เวลาที่ท่านลงจากกุฏิไม่ว่าจะออกไปทำกิจใดใดหรือแม้แต่ออกสำรวจวัดตามปกติ  ท่านก็จะห่มผ้าเฉวียงบ่าตรึงลูกบวบไว้อย่างทะมัดทะแมงและจะใช้ย่ามคล้องแขนอยู่เสมอ ซึ่งถ้าอ้างถึงในทางวินัยสงฆ์การนุ่งห่มให้เป็นปริมณฑลเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้งและการใช้ย่ามคล้องแขนนี้เป็นการถูกต้องตามเสขิยวัตรที่สมณะพึงปฏิบัติแล้ว และยังถือว่าเป็นแบบแผนอันงดงามยิ่งที่โบราณจารย์ในอดีตได้ถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้ให้แก่กุลบุตรทั้งหลายที่เป็นภิกษุผู้เข้ามาใหม่ในบวรพระพุทธศาสนาจะได้ทำการศึกษาและถือปฏิบัติเป็นนิสสัยสืบไป
เรื่องย่ามนี้หลวงพ่อท่านจะนำติดตัวไปด้วยตลอดเวลาท่านว่าสิ่งเหล่านี้เป็นบริขารของพระ สังเกตได้จากรูปถ่ายในแต่ละวาระจะเห็นได้ว่ามีย่ามวางอยู่ข้างๆองค์ท่านเสมอ ศิษย์ใกล้ชิดจำได้ว่าในย่ามของท่านมีหน้าผากเสืออยู่หนึ่งแผ่น นอกนั้นก็จะเป็นสิ่งของเครื่องใช้เท่าที่จำเป็นในกิจของสงฆ์เช่น สมุดพก ปากกา นาฬิกา เป็นต้นฯไม่มีใครเคยพบเงินทองของมีค่าติดย่ามของหลวงพ่อเลยแม้ซักกะบาทเดียว ในเวลาที่ท่านประสงค์จะทราบจำนวนเงินที่มีอยู่ท่านจะใช้ให้ลูกศิษย์วัดมานับแล้วแยกออกเป็นกองๆ ส่วนท่านเพียงแต่นั่งดูเท่านั้น ไม่เคยมีใครได้เห็นว่าหลวงพ่อท่านจะสัมผัสจับต้องเงินทองแต่ประการใด
การอยู่การกินของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่ายที่สุด ปราศจากมายาและการปรุงแต่งทั้งปวง ภายในกุฏิท่านมีเพียงตู้หนังสือเก่าๆอยู่ใบหนึ่ง กับพระพุทธรูปที่หัวนอนอยู่องค์สององค์ แม้ที่นอนของท่านก็อาศัยพื้นกระดานเป็นที่จำวัดมีเพียงเสื่อปูเป็นพื้นแล้วราดทับด้วยผ้าอาบเท่านั้น มิได้มีฟูกหมอนเครื่องอำนวยความสะดวกสบายหรือของสะสมใดใดเลย เวลาท่านจำวัดท่านจะจำวัดโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก ในทัศนะของผู้เขียนสันนิษฐานว่าท่านคงเจริญมรณะนุสสติกรรมฐานไปด้วย และจะจำวัดในท่าตะแคงหรือที่เรียกกันว่าท่าสีหไสยาสน์เสมอ เป็นการนอนแบบมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ดุจดังพญาราชสีห์ถึงแม้เมื่อยามหลับใหลแต่ก็พร้อมจะตะครุบเหยื่ออยู่ตลอดเวลา  ในหมู่พระภิกษุผู้เจริญสติอยู่เนืองๆก็ดุจเดียวกัน สติของท่านย่อมเป็นเครื่องตื่นรู้อยู่ทุกขณะจิต มิได้เปิดช่องให้แก่หมู่มารเลย


* P8180139.jpg (53.01 KB, 500x667 - ดู 15119 ครั้ง.)

* P5190005.jpg (53.97 KB, 500x786 - ดู 14973 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #5 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 06:59:52 PM »

หลวงพ่อท่านเป็นพระที่มีระเบียบแบบแผนและใส่ใจในรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว สมกับเป็นพระเถระผู้ใหญ่ผู้มีรัตตัญญูโดยแท้ แม้กระทั่งเรื่องเบ็ดเตล็ดเช่นการประกอบอาหารท่านจะสามารถกะเกณฑ์ได้อย่างลงตัวเลยว่าแกงถ้วยนึงควรจะใส่หัวหอมปริมาณเท่าใด ควรใส่พริกปริมาณเท่าใด แล้วถ้าหม้อนึงควรจะใส่ในอัตราส่วนเท่าใดจึงจะพอดี ความละเอียดประณีตของท่านนี้ก็ถือว่าเป็นที่สุดได้อีกประการหนึ่ง สังเกตได้จากเมื่อยามว่างนั้นท่านมักจะประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้สำหรับแจกจ่ายให้กับญาติโยมนั่นคือกระจ่าและตะกร้าจีนของทุกชิ้นที่ท่านทำ ท่านจะตั้งใจทำอย่างละเอียดประณีตที่สุด  เช่น กระจ่า ท่านก็จะเลือกเอาเฉพาะกะลามะพร้าวคัดเอาลูกที่มีสัณฐานแบน ต้องตัดให้มีรูปทรงที่สมดุลได้สัดส่วนที่พอดี ส่วนด้ามนั้นส่วนใหญ่ท่านจะเลือกใช้ไม้โมกมันซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนมีขนาดเบาและเข้ารูปได้โดยง่าย เฉพาะด้ามกระจ่านี้ท่านก็จะบรรจงทำของท่านเป็นอย่างมาก โดยท่านจะเหลาแล้วเหลาอีกอยู่อย่างนั้น พอเหลาไปได้สักพักท่านก็จะเอามือลูบดูบ้าง บางครั้งท่านก็หยุดนิ่งแล้วก็เหลาของท่านต่อ วันหนึ่งจะได้สักใบหนึ่งเท่านั้น กะจ่าของท่านในยุคต้นพอจะได้พบเห็นการสลักเสลาลวดลายไว้อย่างวิจิตรตระการตาอยู่บ้าง มาในระยะหลังโอกาสและธาตุขันธ์คงมิค่อยเอื้อจึงเป็นแต่ด้ามเปลือยเท่านั้นแต่ก็ยังคงความประณีตโค้งงอสอดรับกันอย่างได้สัดส่วน
ส่วนตะกร้าจีนนั้นยิ่งประณีตในรายละเอียดต่างๆเข้าไปใหญ่ เริ่มจากเส้นตอกไม้ไผ่ที่จะนำมาใช้สาน เมื่อท่านจักตอกออกเป็นเส้นๆแล้ว เส้นตอกแต่ละเส้นของท่านจะต้องผ่านการขัดด้วยกระดาษทรายกลับไปกลับมาอยู่หลายรอบจนกระทั่งเห็นว่าเนียนเรียบเป็นเงางามดีแล้วจึงจะหยิบเอาเส้นต่อไปมาขัดต่อ ทำอยู่อย่างนั้นกระทั่งครบทุกเส้นจึงจะนำมาจักสานต่อไปซึ่งใบหนึ่งใช้เวลาเป็นอาทิตย์ๆเลยเทียว ตะกร้าจีนนี้เท่าที่พบมี ๒ ขนาด คือ ขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗-๘ นิ้ว และขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๔ นิ้ว มีทั้งแบบมีหูหิ้วและไม่มีหูหิ้ว


* P1010019.jpg (67.69 KB, 428x500 - ดู 14801 ครั้ง.)

* P1010024.jpg (40.17 KB, 500x375 - ดู 14735 ครั้ง.)

* P1010020.jpg (57.85 KB, 500x421 - ดู 14743 ครั้ง.)

* P1010022.jpg (55.35 KB, 500x383 - ดู 14711 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #6 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 08:36:01 PM »

ในด้านการอบรมสั่งสอนพระลูกวัดท่านจะเน้นหนักในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ ท่านเคยกล่าวว่าศีลเป็นบาทฐานของกุศลธรรมทั้งปวง กุศลธรรมใดจะบังเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยศีลเป็นเบื้องต้น ความยิ่งยวดในส่วนขององค์ท่านนั้นเล่ากันว่าเมื่อท่านจะออกเดินทางไปไหนมาไหน ด้วยเกรงว่าศีลาจารวัตรของท่านจะด่างพร้อย ท่านเองถึงกับต้องพกพาแผ่นหินติดตัวไปด้วย หลายท่านคงจะงุนงงสงสัยว่าหลวงพ่อท่านจะพกพาเอาแผ่นหินนั้นติดตัวไปไหนต่อไหนด้วยทำไม เหตุผลก็เพียงเพื่อเอาไว้รองในเวลาที่ท่านจะถ่ายเบา ด้วยท่านเกรงว่าจะทำแผ่นดินให้แยก ซึ่งมีระบุในปฐวีขนนสิกขาบท ยกตัวอย่างบางตอนกล่าวไว้ว่า “...แม้จะถ่ายปัสสาวะ ด้วยคิดอย่างนี้ว่า เราจะพังแผ่นดินด้วยกำลังแห่งสายน้ำปัสสาวะ ” ในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นอาบัติปาจิตตีย์ จะเห็นได้ว่าท่านละเอียดอ่อนและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมากแม้จะเป็นอาบัติเล็กๆน้อยๆก็ตาม อีกเรื่องที่ท่านเข้มงวดก็คือการท่องบ่นมนต์พิธี และการศึกษาท่องจำหลักธรรมวินัยที่มีอยู่ในหนังสือนวโกวาท หลังจากทำวัตรสวดมนต์ในช่วงเย็น ถ้าลงได้ท่านหันหน้าเข้าหาพระลูกวัดเข้าแล้ว เป็นอันต้องโดนไล่เบี้ยเป็นรายบุคคลจนถ้วนทั่วทุกตัวตนไป โดยท่านจะให้พระลูกวัดท่องมนต์พิธีและธรรมวินัยต่อหน้าท่านทีละรูป หากวันนี้ท่องได้แค่ไหน วันต่อไปต้องได้มากกว่านี้ สอบทวนอย่างนี้เรื่อยไปบางคราวก็กินเวลายาวนานจนถึงห้าทุ่มเที่ยงคืนก็มีอยู่บ่อยครั้ง 
ในการปกครองถึงแม้พระลูกวัดจะออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง แต่การตักเตือนของท่านก็เป็นไปอย่างละมุนละม่อมท่านมีจิตวิทยาชั้นสูงที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดนั้นเกิดความสำนึกและละอายอย่างแรงกล้า แต่หากสันติวิธีของท่านไม่สัมฤทธิ์ผลท่านก็จะเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นตามควรแก่โทษานุโทษ และท่านก็มิใช่สักแต่ว่าเป็นผู้สอนให้ทำเพียงอย่างเดียว แต่ท่านยังเป็นผู้ทำให้ดูอีกด้วย ความเข้มงวดของท่านนี้มิได้เลือกปฏิบัติ จะยากดีมีจนมาจากไหน ล้วนแล้วแต่ได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกันทั้งสิ้น ด้วยความเคร่งครัดและความเป็นคนจริงของท่านจึงเป็นที่เกรงขามกันหนักหนาทั้งพระ เณรและบรรดาเด็กวัดทั้งหลาย ไม่เว้นวายแม้แต่ชาวบ้านร้านรวง วันไหนลงได้ท่านบิณฑบาตแล้วพบเห็นสิ่งอันไม่เป็นที่เจริญหูเจริญตาแลเห็นเป็นช่องทางแห่งความเสื่อม ถึงวันพระเมื่อไรท่านจะเอาออกมาเทศน์เทียบเคียงอย่างเฉียบคม เล่นเอาเจ้าตูตนผู้นั้นกระอักกระอ่วนปั่นป่วนใจเกิดความละอายภายในจนไม่กล้าจะกระทำการดังกล่าวอีกเลย ความเคร่งครัดจัดระเบียบของท่านอาจจะทำให้คนเจ็บบ้าง แต่ไม่เคยทำลายใคร ในทางตรงกันข้ามกลับกลายเป็นยุทธวิธีสร้างคนสร้างสังคมให้ดำเนินไปสู่หนทางแห่งความเจริญเสียด้วยซ้ำ สังเกตเห็นได้จากความเป็นปึกแผ่นและความมีวัฒนธรรมของชุมชนบ้านบ่อแร่ที่ยังมีให้เห็นตราบถึงปัจจุบัน
แม้แต่การเดินเหินของพระเณรตลอดจนลูกศิษย์วัดจะเดินบุ่มบ่ามตามใจตนไม่ได้ ด้วยทั้งกุฏิ ศาลาและหอสวดมนต์ ล้วนแต่ปูพื้นด้วยไม้ ใครเผลอเดินลงส้นให้เกิดเสียงแม้เพียงสัก “กึก”นึง เป็นอันต้องโดนไม้เคาะกะปอม อย่างน้อยก็ต้องซัก ๓ ทีเป็นอย่างต่ำ ตามระดับความดังของเสียง เวลาทานอาหารก็มีกฎเหล็กไม่ต่างกัน ไม่ว่าเสียงช้อนจะกระทบกับจาน ทานเสียงดัง หรือแม้ในที่สุดการวางจานอาหารถึงขนาดที่จะต้องใช้มือรองก้นจานไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ก้นจานกระทบกับพื้น แล้วจึงค่อยๆดึงมือออก ถ้ามีเสียง “แก๊ก” มาจากใคร ผู้นั้นจะต้องใช้มือเขกกระดานอย่างน้อย ๓ ครั้งเช่นกัน แม้จะเป็นการลงโทษด้วยตนเองก็ต้องซื่อสัตย์ปฏิบัติต่อตนเองด้วยความจริงใจ จะสงวนท่าทีด้วยเกรงว่าเจ้าของจะเจ็บหนักนั้นเป็นไม่ได้ หากกระทำเช่นนั้นแล้วไซร้ซ้ำร้ายจะได้โทษสถานหนักขึ้นเป็นทวีคูณ


* P1010027.jpg (48.3 KB, 500x507 - ดู 14683 ครั้ง.)

* P1010032.jpg (55.41 KB, 500x375 - ดู 14578 ครั้ง.)

* P90700271.jpg (58.12 KB, 500x668 - ดู 14749 ครั้ง.)

* P90700281.jpg (56.16 KB, 500x487 - ดู 14467 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #7 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 09:47:05 PM »

นอกจากความเคร่งครัดและปฏิปทาอันเข้มข้นอาจหาญแห่งองค์ท่านดังที่กล่าวมาแล้วนั้น  เรื่องวาจาสิทธิ์ก็เป็นอีกเรื่องที่เหล่าลูกศิษย์และชาวบ้านยำเกรงกันนักหนา ด้วยว่าท่านเป็นคนพูดน้อยก็จริง แต่อะไรที่หลุดปากท่านออกมาแล้วล้วนแต่เป็นความจริงทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องที่เราๆท่านๆเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปไม่ได้ก็กลับกลายเป็นไปตามคำของท่านอย่างน่าอัศจรรย์ ถึงกับกล่าวว่า หลวงพ่อท่านปากพระร่วง พูดเช่นไรเป็นเช่นนั้น  บางครั้งเวลาที่ท่านรู้ว่าอารมณ์โกรธเกิดขึ้นท่านจะข่มอารมณ์นั้นด้วยการนั่งนิ่งหลับตา เพื่อไม่ให้พลั้งปากพูดในทางตำนิออกไป   ด้วยเกรงว่าผู้นั้นจะต้องมีอันเป็นไปตามคำท่านปรากฎการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องวาจาสิทธิ์นี้มีอยู่มากซึ่งล้วนแต่มีประจักษ์พยานและหลักฐานยืนยันชัดเจน  อย่างเช่นเรื่องดังต่อไปนี้
นายเทียมลูกน้องของขุนหลวงศรีสิทธิกรรม (รองอำมาตย์เอกเปล่ง วิสูตรชัย อดีตนายอำเภอวัดสิงห์ ผู้ให้การอุปถัมภ์คนสำคัญอีกท่านหนึ่งของวัดบ่อแร่) เพิ่งเข้ามาบวชใหม่ โดยหลวงพ่อเคลือบเป็นพระอุปัชฌาย์ให้และพักจำพรรษาอยู่ที่วัดบ่อแร่ จะด้วยความคึกคะนองของคนหนุ่มหรือจะด้วยเหตุใดไม่ทราบได้ นายเทียมผู้บวชเป็นพระใหม่รูปนี้จึงเล่นพิเลนวิ่งไล่เตะเพื่อนพระด้วยกัน ที่สำคัญพระที่ถูกไล่เตะนั้นเป็นพระที่คอยปรนนิบัตินวดเฟ้นให้กับหลวงพ่อเสียด้วย เรื่องทราบถึงหลวงพ่อท่านก็กล่าวออกมาว่า “ไอ้พระองค์นี้มันท่าจะบ้า” หลังจากหลวงพ่อท่านลั่นวาจาออกไปไม่นาน พระเทียมก็เริ่มออกอาการเพี้ยนๆนับวันอาการยิ่งหนักขึ้นเป็นทวีคูณจนกระทั่งเมื่อสึกออกไปจึงได้บ้าถาวร ฝ่ายหลวงศรีสิทธิกรรมเมื่อทราบเรื่องดังกล่าว ก็เข้าใจในทันทีว่าเป็นเพราะอำนาจวาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อ หลวงศรีสิทธิกรรมจึงออกกุศโลบายให้นายเทียมคนของท่านกลับไปปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อ โดยกำชับให้นายเทียมคอยฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของหลวงพ่อทุกคำอย่างเคร่งครัด หลังจากนั้นนายเทียมก็ปฏิบัติตามคำสั่งของหลวงพ่อทุกประการจนกระทั่งหลวงพ่อท่านออกปากชมว่า “เดี๋ยวนี้เทียมมันดีนะ”บางวันท่านก็ว่า “เทียมมันตรงเวลาดีนะ” ยิ่งหลวงพ่อพูดคำว่า “ดี”มากเท่าไรอาการของนายเทียมก็ยิ่งดีขึ้นๆโดยลำดับ ในคราวนั้นหลวงพ่อท่านอาพาธเป็นมะเร็งหลอดอาหารจึงต้องผ่าตัดเปลี่ยนหลอดอาหารเป็นหลอดพลาสติกใส่ไว้แทน จึงมักมีเสมหะไหลออกมาอยู่บ่อยครั้ง เวลาที่ท่านบ้วนลงกระโถนท่านก็จะบ่นออกมาว่า “เสลดนี่มันเหนียวจังว่ะ” นายเทียมพอได้ยินคำว่า “เหนียว”จากปากหลวงพ่อเท่านั้นแหละ เสลดที่มีอยู่ในกระโถนเท่าไรนายเทียมยกมาดื่มกินจนหมด และก็ปรากฏว่านายเทียมนี่หนังเหนียวจนขึ้นชื่อ เป็นที่โจษขานกันมากในแถบนั้น จนกระทั่งมีอยู่คราวหนึ่งลูกน้องของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หมู่บ้านกุดจอกทำการทดลองด้วยมีดโกน ทั้งกรีดทั้งเถือกันแบบไม่ยั้ง จนกระทั่งใบมีดโกนหลุดออกจากฝัก เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่งไปหมดแต่ก็ไม่ปรากฏรอยเลือดให้แมลงวันกินได้ซักหยดเดียว
ตกเย็นท่านมักจะเดินสำรวจบริเวณวัดเพื่อสอดส่องดูแลความปกติเรียบร้อยของภูมิทัศน์และวัตรปฏิบัติของเหล่าอันเตวาสิกเป็นประจำ มีอยู่คราวหนึ่งก่อนที่ท่านจะออกไปธุระนอกวัด ท่านเห็นว่ากิ่งไม้มันยื่นยาวออกมาพาดอยู่เหนือหลังคากุฏิพระ ท่านพูดออกมาสั้นๆว่า “กิ่งนี้มันไม่ดีนะ”พอท่านละหลังออกจากวัดไป ปรากฎว่าใบที่อยู่บนกิ่งนั้นเริ่มเหี่ยวเฉาและเป็นเฉพาะไม้กิ่งนั้นอยู่กิ่งเดียวในที่สุดมันก็แห้งตายของมันไปเองอย่างน่าประหลาด
ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโบสถ์อยู่นั้น ท่านเห็นว่ากิ่งมะม่วงกะล่อนขนาดใหญ่กิ่งหนึ่งมันยื่นออกมาบดบังทัศนียภาพ ทำให้มองเห็นโบสถ์ไม่โดดเด่นนัก ท่านจึงกล่าวขึ้นว่า “กิ่งนี้นี่ จะมาบังเขาทำไม ไม่เหมาะหรอก”ตกเย็นกิ่งมะม่วงกะล่อนขนาดใหญ่ที่ไม่มีท่าทีว่าจะหักลงได้ กลับหักลงมาอย่างไม่มีสาเหตุ ด้วยความใหญ่โตมโหฬารของมันถึงกับต้องเกณฑ์พระลูกวัดทั้งหมดมาช่วยกันขนย้าย


* P1010116.jpg (57.2 KB, 500x386 - ดู 14598 ครั้ง.)

* P1010124.jpg (56.67 KB, 500x402 - ดู 14351 ครั้ง.)

* P1010119.jpg (56.63 KB, 500x435 - ดู 14302 ครั้ง.)

* P1010121.jpg (57.53 KB, 500x375 - ดู 14255 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #8 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 09:48:10 PM »

  ด้วยเหตุที่ว่าท่านไม่ค่อยนิยมในการถ่ายรูป ภาพถ่ายของท่านทั้งขนาดห้อยคอและขนาดบูชา จึงจัดว่าเป็นของหายากและเป็นที่หวงแหนของคนในพื้นที่เป็นที่สุด ผู้เขียนได้พยายามแสวงหาและรวบรวมภาพถ่ายในอิริยาบถต่างๆ ของท่าน จนกระทั่งพอที่จะเรียบเรียงเป็นวาระต่างๆ ได้ ๗ วาระดังนี้
๑.วาระแรกตั้งแต่สมัยท่านยังเป็นพระใบฎีกาเคลือบ พระฐานานุกรมของพระครูสิงหชัยสิฌช์ (ฉะอ้อน) เจ้าคณะแขวงฯในขณะนั้น


* P1010035.jpg (57.45 KB, 500x667 - ดู 16077 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #9 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 09:51:08 PM »

๒.วาระที่สองถ่ายไว้เมื่อคราวฉลองสมณะศักดิ์ในพระราชทินนาม “พระครูวิจิตรชัยการ” เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ทุกรูปเท่าที่พบจะมีรอยปากกาเขียนใต้ภาพไว้ว่า “ที่ระลึก คราวฉลองสมณะศักดิ์ ท่านพระครูวิจิตรชัยการ วัดบ่อแร่ ๔/๗/๒๔๘๔”เป็นข้อความที่เขียนด้วยลายมือของท่านเอง 


* P8180125.jpg (53.38 KB, 500x796 - ดู 14405 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #10 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 09:53:06 PM »

๓.วาระที่สามเป็นรูปที่แปลกไปจากรูปในคราวต่างๆเนื่องจากเป็นรูปถ่ายหลวงพ่อในอิริยาบถยืน แต่รูปนี้ถือว่าเป็นรูปที่ถ่ายเป็นการเฉพาะ ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายแต่อย่างไร เป็นความศรัทธาโดยส่วนตัวของร้านวัฒนศิลป์ที่มีความประสงค์จะมีรูปของหลวงพ่อไว้สักการะบูชา จึงได้ขออนุญาตหลวงพ่อ ซึ่งขณะนั้นท่านกำลังกวาดบันไดหอสวดมนต์อยู่ เมื่อร้านวัฒนศิลป์แจ้งความประสงค์แล้ว หลวงพ่อก็เข้าไปห่มจีวรพาดสังฆาฏิจนเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงกลับมายืนให้ถ่ายที่บันไดหอสวดมนต์ หลังจากที่ร้านวัฒนศิลป์ล้างรูปออกมาแล้วได้เก็บไว้บูชา ๑ รูป และนำมาถวายให้หลวงพ่อไว้ ๑ รูป ดังนั้นรูปในอิริยาบถนี้ที่เป็นต้นฉบับจริงๆจึงมี ๒ รูปเท่านั้นในโลก


* ssd.jpg (57.83 KB, 500x1426 - ดู 14099 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #11 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 09:58:30 PM »

๔.วาระที่สี่ถ่ายเมื่อ วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๖ ในคราวฉลองพัดสมณาคุณที่กระทรวงศึกษาธิการมอบให้กับพระภิกษุผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาและสังคม เป็นรูปพัดคู่มีทั้งขนาดบูชาและขนาดห้อยคอ รูปขนาดบูชาเท่าที่พบเห็นมี ๒ แบบ คือ
   แบบที่ ๑ สังเกตจากรอยพับที่วิ่งไปตามแนวนอนของผ้าม่านที่กั้นเป็นฉากหลัง จะอยู่เหนือบัวหัวเสาของหลักที่ตั้งพัดสมณาคุณ รูปนี้ใบหน้าของหลวงพ่อจะดูอิ่มเอิบมีเมตตา


* P10100501.jpg (57.32 KB, 500x690 - ดู 14110 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #12 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 10:00:28 PM »

2


* P1010001.jpg (54.96 KB, 500x572 - ดู 14358 ครั้ง.)

* P1010005.jpg (55.35 KB, 500x375 - ดู 13978 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #13 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 10:02:02 PM »

แบบที่ ๒ สังเกตรอยพับของผ้าม่านจะวิ่งผ่านกึ่งกลางบัวหัวเสาของหลักที่ตั้งพัดสมณาคุณ ซึ่งรูปนี้ใบหน้าของหลวงพ่อจะดูเคร่งขรึมน่าเกรงขาม


* P1010156.jpg (57.37 KB, 500x710 - ดู 14262 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #14 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 10:04:03 PM »

๕.รูปกระดานสี่แผ่น ถ่ายบนหอสวดมนต์ ซึ่งเป็นช่วงที่หลวงพ่อเริ่มอาพาธหนัก ถ่ายเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคมพ.ศ.๒๕๐๑ ก่อนหลวงพ่อมรณะภาพ ๑๐ วัน จะเห็นได้ว่าธาตุขันธ์ของหลวงพ่อซูบผอมเป็นอย่างมากเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกอยู่เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นแววตาที่ทรงไว้ด้วยอำนาจและตบะเดชะยังคงเปล่งประกายอย่างเห็นได้ชัด


* P5190004.jpg (53.42 KB, 500x564 - ดู 15419 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #15 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 10:06:28 PM »

๖.รูปกระถางธูป  รูปนี้อุ้มร่างของหลวงพ่อเข้าไปถ่ายในโบสถ์เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายหลังจากโบสถ์ได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จและได้รับการประดับตกแต่งจนเป็นที่เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๑ ก่อนหลวงพ่อมรณะภาพเพียง ๙ วัน เนื่องจากด้านหน้าหลวงพ่อมีกระถางธูปตั้งอยู่ จึงเรียกว่า “รูปกระถางธูป”ร้านยินดีศิลป์เป็นผู้ถ่าย


* P1010042.jpg (54.27 KB, 500x646 - ดู 15259 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #16 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 10:07:50 PM »

๗.รูปพยุงตัว เป็นรูปที่ถ่ายในวาระสุดท้ายที่สุดจริงๆ เพราะถ่ายก่อนหลวงพ่อมรณภาพไม่กี่ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าสรีระธาตุขันธ์ของท่านอิดโรยทรุดโทรมมากกว่ารูปอื่นๆที่ถ่ายในช่วงที่ท่านอาพาธ แต่กระนั้นแววตาของท่านยังคงเปล่งประกายออกมาอย่างอาจหาญ และมิหนำซ้ำยังปรากฏรอยยิ้มน้อยๆอยู่บนใบหน้าของท่าน มิได้มีอาการประหวั่นพรั่นพรึงต่อมรณะสัญญาที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าแต่อย่างไรเลย ซึ่งทั้งๆที่อาการของท่านในขณะนั้นกำลังเพียบหนักถึงขนาดที่ไม่สามารถทรงตัวได้ด้วยตัวท่านเองแล้วก็ตามที สังเกตด้านหลังหลวงพ่อจะมีหมอนใบใหญ่หนุนหลังท่านอยู่ โดยมีหมอส่ง สุขหนู(คนบ้านดอนเปร็ง)เป็นผู้ประคองร่างท่านอยู่ด้านหลัง
นอกเหนือจากนี้ยังมีรูปที่ถ่ายขึ้นแบบไม่เป็นทางการอยู่บ้างอย่างเช่น รูปถ่ายในงานสรงน้ำหลวงพ่อ ซึ่งรูปชุดดังกล่าวทราบแต่เพียงว่าตกทอดอยู่กับหลานๆท่านที่อยู่กรุงเทพฯ แต่ยังหา
หนทางติดต่อไม่ได้ 


* P10100371.jpg (58.59 KB, 500x667 - ดู 13770 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #17 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 10:12:51 PM »

ส่วนพระพิมพ์เนื้อชินตะกั่วนั้น เริ่มสร้างราวๆปี พ.ศ.๒๔๙๗ส่วนพระพิมพ์เนื้อชินตะกั่วนั้น เริ่มสร้างราวๆปี พ.ศ.๒๔๙๗ หลวงพ่อพระครูบุญธรรมจำได้ว่าสร้างถัดมาจากรูปถ่ายห้อยคอทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ซึ่งออกในปี พ.ศ.๒๔๙๖  ปฐมเหตุนับเนื่องมาจากคุณยายฟอง ชาวบ้านบ่อแร่แกพบก้อนแร่ในพื้นที่นาของแกโดยบังเอิญจึงนำมาถวายหลวงพ่อ ก้อนแร่นี้มีลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดสักประมาณผลมะตูม การนำก้อนแร่มาเทเป็นองค์พระนี้ก็เป็นความคิดริเริ่มของพระสมุห์บุญช่วยอีกเช่นกัน ลำพังหลวงพ่อนั้นท่านไม่มีความคิดทำนองนี้เลย แต่ท่านก็มีเมตตามิได้ขัดศรัทธาแต่อย่างไร โดยส่วนตัวท่านมีแต่ความงดงามในศีลาจารวัตรและความมั่นคงองอาจในธรรมปฏิบัติ เป็นของมงคลประจำตัวท่านที่แจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ได้มาประสบพบเห็นอย่างไม่มีวันหมดสิ้น
พระครูวิชัยสุตาทร (หลวงพ่อบุญธรรม จันทโน) วัดปากคลองฯผู้มีส่วนร่วมในการจัดสร้างพระพิมพ์ในครั้งนั้นเล่าให้ฟังว่า เป็นพระพิมพ์ที่เทหล่อกันเองที่วัด โดยมีพระมหาชัยสิทธ์(อ้วน) (ภายหลังย้ายมาอยู่วัดปากคลองฯและต่อจากนั้นได้เป็นสมภารอยู่ที่วัดวิจิตรตระการนิมิต ฝั่งธนฯ) เป็นคนแกะแม่พิมพ์จากหินมีดโกนพอแกะเป็นรูปเป็นร่างเข้าหน่อยก็ทดลองนำดินเหนียวมากดดูว่าทรงพิมพ์จะออกมาเป็นอย่างไร หากยังดูเคอะเขินอยู่บ้าง ก็ทำการแก้ไขใหม่จนกระทั่งได้รูปทรงพอดูได้ จึงนำมาใช้เป็นแม่พิมพ์ ดังจะเห็นได้ว่ารูปแบบทรงพิมพ์ไม่สู้จะสวยสดงดงามเท่าใดนัก เพราะเป็นฝีมือแบบช่างจำเป็นหรือที่โดยมากเรียกกันว่าฝีมือช่างชาวบ้าน(ต่างกันก็ตรงในที่นี้พระเป็นผู้แกะพิมพ์เองไม่ใช่ชาวบ้านจะเรียกว่า ฝีมือพระบ้านนอกก็ไม่ผิดนัก)
แม้ทรงพิมพ์จะไม่สะไม่สวยเหมือนดังฝีมือของช่างมืออาชีพหรือฝีมือช่างหลวงแต่ก็เต็มไปด้วยพลังศรัทธาและเจตนาที่เป็นกุศลอย่างเปี่ยมล้น
ซึ่งการเทพระพิมพ์ตะกั่วในครั้งแรกนี้ ท่านว่ามีแม่พิมพ์อยู่เพียงสองอันเท่านั้นคือแบบพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้ม บร.กับพิมพ์สามเหลี่ยม เป็นแม่พิมพ์ที่ใช้แบบเททีละองค์ กรรมวิธีการเทก็คือจะมีคนเคี่ยวตะกั่วคนหนึ่ง ซึ่งตะกั่วส่วนใหญ่นั้นใช้ตะกั่วเกียบเป็นหลัก ตะกั่วเกียบก็คือตะกั่วที่ใช้ในงานบัดกรีมีลักษณะเป็นแท่งๆและมีความบริสุทธิ์สูงกว่าตะกั่วน้ำนมนำมาหุงโดยใช้กระทะเหล็กเมื่อหลอมละลายจนเหลวได้ที่แล้วจึงใช้เหล็กคีบก้อนแร่หย่อนลงไปแตะให้ละลายปนไปทีละนิดเอาแค่พอเป็นกระสาย ให้ได้ชื่อว่ามีแร่โบราณนั้นผสมอยู่บ้างก็มีความเชื่อว่าทรงอานุภาพนักหนาแล้ว และเมื่อเคี่ยวได้ที่แล้วก็นำมาเทใส่แม่พิมพ์ อีกคนคอยใช้ผ้าม้วนๆเพื่อป้องกันความร้อนกดทับทางด้านหลังขององค์พระเพื่อให้องค์พระติดคมชัดและเพื่อเป็นการประหยัดเนื้อตะกั่วด้วยอีกประการหนึ่ง ดังนั้นจึงมักปรากฏเนื้อเกินออกมาอันเกิดจากแรงกดจึงทำให้เนื้อตะกั่วที่ยังอ่อนตัวอยู่นั้นปิ้นออกมาทางด้านข้าง ส่วนอีกคนคอยแคะโดยใช้ช้อนสังกะสีบ้างปลายตะปูแหลมๆบ้างแคะองค์พระออกจากแม่พิมพ์ แล้วปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งโลหะเย็นตัวลง ขั้นตอนสุดท้ายจึงนำองค์พระที่เย็นตัวลงแล้วนั้นนำมาตัดด้วยกรรไกร ที่ใช้กรรไกรได้เพราะขอบขององค์พระที่ปลิ้นโผล่พ้นแม่พิมพ์มานั้นมีความบางมากไม่ต้องถึงกับใช้สิ่ว ทำกันอยู่อย่างนั้นว่างช่วงไหนก็ค่อยๆทำกันไป ใช้เวลาทำอยู่ประมาณสี่เดือนเพราะเริ่มทำกันตั้งแต่เข้าพรรษาออกพรรษาแล้วก็ยังทำต่ออีกเกือบเดือน เมื่อถึงคราวงานวัด พวกกรรมการวัดจะนำพระพิมพ์ตะกั่วเหล่านี้ออกมาให้ทำบุญองค์ละ ๑ บาทในสมัยนั้น
 จำแนกออกเป็น ๑๑ พิมพ์ดังนี้คือ
๑.พิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้ม บร.
๒.พิมพ์สมเด็จข้างเรียบพิมพ์เล็กฐาน ๗  ชั้น
๓.พิมพ์สมเด็จซุ้มเรือนแก้วพิมพ์ใหญ่ฐาน ๗ ชั้น อกตัน
๔.พิมพ์สมเด็จซุ้มเรือนแก้วพิมพ์เล็กฐาน ๗ ชั้น อกร่อง
๕.พิมพ์สามเหลี่ยมหน้าจั่วพิมพ์ใหญ่ฐาน ๓ ชั้น
๖.พิมพ์สามเหลี่ยมหน้าจั่วพิมพ์กลางฐาน ๓ ชั้น
๗. พิมพ์สามเหลี่ยมหน้าจั่วพิมพ์เล็กฐานชั้นเดียว
๘.พิมพ์สามเหลี่ยมหน้าจั่วนางพญาพิมพ์ฐานตาราง
๙.พิมพ์เล็บมือ(ใบมะขาม) พิมพ์ใหญ่
๑๐.พิมพ์เล็บมือ(ใบมะขาม) พิมพ์กลาง
๑๑.พิมพ์เล็บมือ(ใบมะขาม) พิมพ์เล็ก


* P8190210.jpg (57.3 KB, 500x683 - ดู 14971 ครั้ง.)

* P8190215.jpg (54.54 KB, 500x672 - ดู 13709 ครั้ง.)

* P8190217.jpg (58.29 KB, 500x651 - ดู 13764 ครั้ง.)

* P8190219.jpg (56.58 KB, 500x648 - ดู 13718 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #18 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 10:14:12 PM »

3
บันทึกการเข้า
ฝุ่นดิน
สืบสานประวัติศาสตร์และส่งเสริมความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่น
Register Member
Full Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 130


084-7208460


« ตอบ #19 เมื่อ: 28 กุมภาพันธ์ 2011, 10:16:10 PM »

3


* P8250125.jpg (57.15 KB, 500x704 - ดู 14203 ครั้ง.)

* P8250127.jpg (56.53 KB, 500x722 - ดู 13638 ครั้ง.)

* P82701731.jpg (57.12 KB, 500x639 - ดู 13564 ครั้ง.)

* P82701761.jpg (53.57 KB, 500x641 - ดู 13581 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.10 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!